จุฬาฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AUN-QA ครั้งที่ ๒

11 Oct 2001

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--จุฬาฯ

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระบบประกันคุณภาพ จุฬาฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AUN-QA ครั้งที่ ๒

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการประกันคุณภาพของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพ (“The 2nd Workshop on AUN-QA for CQOs ”) ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องประชุม ๒๐๒ อาคารจามจุรี ๔ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยบูรพาและโรงแรมมณเฑียร พัทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงด้านประกันคุณภาพ จากมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network-AUN) จำนวน ๑๗ มหาวิทยาลัย ใน ๑๐ ประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำต้นแบบระบบประกันคุณภาพ (Benchmarking Procedures) ของสถาบันอุดมศึกษาตาม ข้อตกลงพันธมิตรด้านประกันคุณภาพของ AUN (AUN-QA Alliance) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรฐานคุณภาพในระดับอุดมศึกษาต่อไป ทั้งนี้ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพ (CQOs) จากมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ AUN และตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมจำนวนประมาณ ๖๐ คน

พันธมิตรด้านประกันคุณภาพของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ AUN-QA Alliance ก่อตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดูแลเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-BOT Meeting) ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๑๘ - ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๑ ณ กรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า และต่อมาจากการประชุมคณะกรรมการดูแลเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนด “Bangkok Accord ” เป็นข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาของ AUN โดยให้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพ (Chief Quality Officers-CQOs) เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยสมาชิกในการประสานงานด้านคุณภาพของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านประกันคุณภาพระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้าน คุณภาพครั้งที่ ๑ ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งมาลายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๔ สู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำต้นแบบระบบประกันคุณภาพในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขยายโอกาสการพัฒนาระบบประกันคุณภาพไปสู่ระดับนานาชาติต่อไป

ความพร้อมของมหาวิทยาลัยไทยกับการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยสู่ระดับนานาชาติ

รศ.ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดีด้านประกันคุณภาพ จุฬาฯ เผยถึงการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติว่ามีมานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งจะเน้นการประกันคุณภาพที่ตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ส่วนในด้านการศึกษาที่ผ่านมามีการประกันคุณภาพในบางหลักสูตรบางสาขาวิชา ไม่ได้ประกันคุณภาพทั้งมหาวิทยาลัยในลักษณะเป็นองค์รวม ปัจจุบันในระยะเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาเริ่มเกิดแนวคิดการประกันคุณภาพทั้งระบบในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย หลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีการประกันคุณภาพด้วยการประเมินและตรวจสอบในองค์กรเป็นระยะๆ ส่วนในยุโรปมีการสร้างระบบ EQA (European Quality Assurance) ในกลุ่มสหภาพยุโรป ด้วยความร่วมมือระหว่าง ๒๐๐ มหาวิทยาลัยซึ่งเริ่มใช้ในปี ๒๕๔๖ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบมาตรฐานคุณภาพ ISO 9000 ในกลุ่มอุตสาหกรรมและงานบริการขยายสู่ วงการการศึกษา มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งนำระบบ ISO 9000 มาใช้ในบางหน่วยงานภายใน สำหรับในภูมิภาคเอเชียมีการนำระบบการประกันคุณภาพมาใช้ในหลายประเทศ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นรวมถึงประเทศอินเดียซึ่งมีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องการประกันคุณภาพสำหรับการศึกษาขั้นสูง (Quality Assurance for Higher Education) อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนนับได้ว่ามีการตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งโดยมีการรวมตัวกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ๑๗ มหาวิทยาลัยใน ๑๐ ประเทศ สร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network – AUN) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพ โดยผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพจาก AUN ตลอดจนผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทั้งในและต่างประเทศจะเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำต้นแบบระบบประกันคุณภาพ (Benchmarking Procedures) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “The 2nd Workshop on AUN – QA for CQOs ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา

รศ.ดำรงค์ กล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทยในเรื่องการประกันคุณภาพสู่ระดับนานาชาติว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพ เห็นได้จากในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ หมวดที่ ๖ มุ่งเน้นเรื่องการประกันคุณภาพทั้งระบบ รวมทั้งมีการสร้างกลไกต่างๆขึ้นมาสนับสนุนมากมายไม่ว่าจะเป็นระบบประกันคุณภาพ ๙ ด้าน ของทบวงมหาวิทยาลัย กลไกการตรวจประเมินจากภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการสร้างระบบประกันคุณภาพ “CU – QA ” ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องระบบประกันคุณภาพทั่วทั้งมหาวิทยาลัย--จบ--

-นห-