กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก
ความเป็นมา
การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เกิดจากปัญหาวิกฤติรอบด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในทางการเมืองได้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง โดยความเห็นด้วยของเกือบทุกฝ่าย และท้ายสุดก็เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งขณะนี้เป็นผลที่ทำให้เรามีรัฐสภา ทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร มีระบบการเลือกตั้งในแบบใหม่ ตลอดจนมีกลไกองค์กรอิสระขึ้นหลายหน่วยงาน เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อปราบปรามคอรัปชั่น ตลอดจนมีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นศาลสูงสุดเพื่อเป็นที่สุดท้ายที่จะทำให้เกิดข้อยุติในการตีความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ในทางเศรษฐกิจ ก็ได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาวิกฤติ การปรับปรุงระบบการเงินการคลังของชาติ การใช้นโยบายค่าเงินบาทลอยตัว การพยายามให้รัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านธนาคาร การพลังงาน การสื่อสารโทรคมนาคม การบิน และอื่นๆ ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนที่ทำให้ต้องตอบสนองต่อการแข่งขัน การให้บริการที่ดีต่อลูกค้า และมีความแข็งแกร่งในฐานะองค์กรที่จะมีอิสระในการดำเนินการมากขึ้น
ในทางการศึกษา วิกฤติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทำให้มีผู้ตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านปัญหาคุณภาพคน คุณภาพการศึกษา และการบริหารการจัดการทั้งหลาย ความไม่พอใจในสภาพการจัดการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ ทำให้มีความเห็นพ้องกันว่า ต้องมีการปฏิรูปการศึกษากันทั้งระบบขึ้น เริ่มต้นด้วยการมีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาขึ้นใหม่ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีในช่วงวิกฤติ ทั้งจากนักการศึกษา สื่อมวลชน พรรคการเมือง นักการเมือง และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการเด็กและการศึกษาทั้งหลาย ต่างก็ได้ให้การสนับสนุนจนทำให้เกิดพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว
อาจเป็นเพราะความจำเป็นและวิกฤติในบ้านเมือง บวกกับกระแสความไม่พึงพอใจต่อระบบการศึกษาดังที่ได้เสื่อมถอยเป็นลำดับ แต่ท้ายสุดก็ทำให้เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ขึ้น
สาระสำคัญ
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย การกำหนดเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ทางการศึกษา ระบบการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษา การบริหารและการจัดการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ตลอดจนการส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ
พระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อเริ่มต้นนั้นได้มีบทเฉพาะกาล ให้เวลาในการเตรียมการ 3 ปี และเมื่อเวลาได้ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2545 หรืออีกเพียง ไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
การมีบทเฉพาะกาลที่ยาวนาน 3 ปี จะเรียกเป็นภาษาชาวบ้านก็ได้ว่า “ระยะเวลาตั้งท้อง” คือเกิดแล้ว แต่ยังไม่ได้คลอดออกมาเป็นตัวตน มีการเติบโตในส่วนหนึ่งที่เป็นระบบเอกสาร (Documentation) ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาในทางปฏิบัติแท้จริง และระหว่าง 3 ปีนี้ก็มีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่เรียกว่า “สำนักงานปฏิรูปการศึกษา” หรือเรียกย่อๆ ว่า สปก. เพื่อทำให้เกิดข้อตกลงและแผนงานรายละเอียดที่จะทำให้แต่ละฝ่ายได้รู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป และก็ต้องเสนอเรื่องผ่านผู้รับผิดชอบทางการเมือง คณะรัฐมนตรีก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติอีกครั้งหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไปอย่างแท้จริง
วิกฤติที่จะเกิดขึ้น
แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งดูไปแล้วก็เหมือนการซื้อเวลา เพราะในช่วงของบทเฉพาะกาลกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นการเตรียมการณ์กันในระดับหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน และเป็นการจัดทำเอกสาร โดยทางสำนักงานปฏิรูปการศึกษาทำหน้าที่เสนอผลักดันให้เปลี่ยน และในอีกด้านหนึ่ง คือหน่วยงานที่จะได้รับผลกระทบก็จะเสนอในลักษณะไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน ไม่พร้อมด้วยลักษณะการเตรียมการจากภายใน และเห็นว่าไม่พร้อมเพราะสังคมยังไม่พร้อม แรงต่อต้านเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ไม่ใช่เรื่องของความดีหรือความเลว ไม่ใช่เรื่องของพระเอกและผู้ร้าย เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่คนหรือกลุ่มคนที่เขาจะสูญเสียสถานภาพ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดการทำงาน และทางรัฐบาลหรือสังคมไม่สามารถให้หลักประกันแก่เขาได้ เขาก็ไม่อยากเปลี่ยน
จนถึงขณะนี้ ชาวบ้าน เด็กๆ และเยาวชนยังไม่ได้รับผลดีจากการปฏิรูปการศึกษา ทุกอย่างยังเหมือนเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างเลย ว่าไปแล้วก็คือเท่ากับได้เดินถอยหลังไปแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่เมื่อต้องการจะเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริง แรงต้าน แรงผลักดัน และแรงเสียดทานมีมาก และมีอย่างลึกๆ ไม่ลงตัว จนในท้ายสุดเป็นผลทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ลาออกอย่างที่บุคคลภายนอกไม่ได้คาดคิด แรงกดดันส่วนหนึ่งก็มาจากการต้องทำให้พระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาที่ได้มีการดำเนินการกันมา ได้ส่งผลในการดำเนินการจริง แต่ก็อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้มากนัก จนท้ายที่สุดเป็นผลที่ทำให้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ต้องตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นคนที่สอง ซึ่งนับเป็นความหวังของฝ่ายนักการศึกษา แต่ในท้ายสุดด้วยไม่มีเวลา หรือไม่สามารถจับในรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมาย จึงได้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการเป็นครั้งที่สาม รัฐมนตรีท่านใหม่ คือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ
การปฏิรูปการศึกษาบัดนี้ได้มีกฎหมายรองรับแล้วก็จริง แต่ในทางปฏิบัติมันอาจมีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ท้ายสุดอาจไม่สามารถดำเนินการให้เป็นผลได้ อาจมีการเลื่อน ถอนกลับ หรือยกเลิกก็ได้ ดังที่มีตัวอย่างให้เห็นดังที่ผ่านมา พระราชบัญญัติที่ออกมาโดยมีผลเฉพาะกาล หลายฉบับที่ท้ายสุด เมื่อถึงเวลาหมดบทเฉพาะกาลก็มีการต่ออายุ หลายฉบับท้ายสุดก็มีการยกเลิกไป หรือมีแรงคัดค้านจนฝ่ายการเมืองไม่ต้องการดำเนินการต่อ
อะไรคืออุปสรรค
การปฏิรูปการศึกษาดูเหมือนเป็นของดี แต่ก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่เข้าใจ และไม่ได้เป็นพลังในอันที่จะเปลี่ยนแปลง นโยบายปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่สามารถทำให้เกิดเป็นนโยบายที่ชัดเจนเหมือนอย่าง กองทุนหมู่บ้าน หรือนโยบายสาธารณสุข “30 บาทรักษาได้ทุกโรค” ในประวัติการศึกษาไทยในช่วงหลัง ไม่เคยมีการสร้างวัฒนธรรมการให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษาอย่างแท้จริง
แรงสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาที่ฐานรากไม่ชัดเจน และไม่หนักแน่น แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนเป็นอันมาก ที่เป็นคนมีอำนาจในระบบปัจจุบัน และเป็นคนที่จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาไม่เห็นด้วย
แรงต้านคือครูทั่วประเทศซึ่งเป็นข้าราชการ หรืออยู่ภายใต้ระบบราชการ มีคนนับถึง 600,000 คน ที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่น่าจะได้รับผลดี ไม่น่าจะได้รับผลกระทบในทางเสียโอกาส หรือเสียหาย ประเด็นใหญ่ๆ น่าจะเป็นเพราะเขาไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นสำคัญ แต่จะมีบางส่วนที่มีการต่อต้านอย่างลึกๆ เพราะจะต้องมีการสูญเสียและได้รับผลกระทบต่อตนเองอย่างตรงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีตำแหน่งบริหารในส่วนกลาง ระดับกระทรวง กรม และกองต่างๆเพราะอำนาจการบริหารจะถูกปรับเปลี่ยนไป โดยความรับผิดชอบการจัดการจะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น งานส่วนกลางจะถูกลดทอน ยุบเลิก คนจะต้องปรับไปสู่ส่วนปฏิบัติการมากขึ้น
โรคแทรกที่อาจเกิดขึ้นในฝ่ายการเมือง ทั้งในซีกฝ่ายค้าน และรัฐบาลเองในบางส่วน ไม่เข้าใจ และอาจมีข้อเสนอที่ท้ายสุด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้จริง อันที่จริง มีนักการเมืองอย่างน้อยซีกหนึ่ง ที่คุ้นกับการมีหน่วยงานทรงอำนาจในส่วนกลาง ซึ่งทำให้ฝ่ายการเมืองได้เข้ามากำกับและมีอิทธิพลได้อย่างไม่ยาก อย่างที่เขาเรียกกันว่า “วัฒนธรรมล้วงลูก” หรือการสามารถเข้าควบคุมหน่วยงานต่างๆ ได้โดยตรง การไม่สามารถจัดสรรให้มีงบประมาณในภาครัฐเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริง การมีทรัพยากรสนับสนุนเป็นทางหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับฝ่ายต่างๆ ไม่เกิดความเครียดจนเกินไป ความขาดแคลนด้านทรัพยากรของทั้งประเทศเป็นแรงผลักด้นในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะเราไม่สามารถดำเนินการในแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนโดยไม่มีทรัพยากร ก็เหมือนทำการผ่าตัดใหญ่โดยไม่มีเลือดหรือน้ำเกลือสำรอง
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคทั้ง 3 ประการเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ประการแรก การต่อต้านจากครูนั้น แท้จริงถ้าทำความเข้าใจกับครูอาจารย์ให้ได้มากที่สุด และเน้นการไม่สร้างผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคงในการอาชีพ อย่างน้อยสักระยะหนึ่ง คือ 3 – 5 ปี ครูส่วนใหญ่ก็จะเบาใจไปได้ และหากมองอย่างเป็นธรรม ครูโดยส่วนใหญ่เป็นคนดี มีความสามารถและตั้งใจทำหน้าที่อย่างดี ครูที่ดีไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลง ประการที่สอง โรคแทรกซ้อนจากฝ่ายการเมืองนั้นไม่น่าจะยาก เพราะพรรครัฐบาลก็มีอำนาจในรัฐสภาอย่างล้นเหลือ การศึกษาถ้ามองเป็นผลประโยชน์ที่อาจทำให้เกิดการทุจริตนั้น ถ้ากระจายอำนาจแล้ว ก็ไม่มีโอกาสในการล้วงลูกได้มากนัก ส่วนฝ่ายค้านเอง ก็เช่นเดียวกับทุกฝ่าย เคยยกมือสนับสนุนให้มีการปฏิรูปการศึกษากันมาแล้วอย่างท่วมท้น
ส่วน ประการที่สาม แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะไม่มีทรัพยากรหลงเหลืออยู่มาก อยู่ในสภาวะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลย์อยู่ทุกปี แต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับผิดชอบ แต่เปิดโอกาสให้ทางกฏหมายให้ท้องถิ่นต้องรับผิดชอบต่อการศึกษาของตนได้
วาระแห่งชาติ
การศึกษาเป็นเรื่องส่งผลกระทบต่อประชาชน และประเทศทั้งประเทศ ไม่ควรถือเป็นเรื่องการเมือง และอยู่ในความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องทำให้เป็นเรื่องของทุกๆ ฝ่าย และที่สำคัญประเทศชาติไม่มีเวลาเหลืออยู่อีกมากแล้ว การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องถือเป็นมาตรการวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่าย
ไม่เพียงพรรคฝ่ายรัฐบาลที่เป็นเจ้าของเรื่อง การปรึกษาหารือกับซีกฝ่ายค้าน ซึ่งก็เกี่ยวข้องและสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษามาแต่แรกก็เป็นสิ่งจำเป็น
ไม่เพียงภาครัฐบาลที่จะดำเนินการ การมีภาคประชาชน การเตรียมความพร้อม ให้สามารถดำเนินการไปก่อนได้ ไม่ต้องรอกระทำพร้อมกันทั้งประเทศ 295 เขตพื้นที่การศึกษา การมีความพร้อมในบางพื้นที่ที่จะได้ทดลองนำหน้าไป จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการจะดำเนินการต่อไปในระยะยาว
หากจะเปรียบไปแล้ว ขณะนี้ลูกบอลอยู่ที่รัฐบาลเต็มตัว เหลือเพียงฝ่ายรัฐบาลต้องทำหน้าที่พาลูกบอลฟันฝ่าเข้ายิงประตูให้ได้ ไม่ใช่เลี้ยงลูกหลบไปหลบมาอีกแล้ว แต่นั่นก็เป็นโอกาส เพราะถ้ายิงลูกเข้าประตูได้ นำการปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติสำเร็จ ฐานความเชื่อถือของรัฐบาลก็จะมีอย่างหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก แต่การไม่ดำเนินการในจังหวะที่ต้องทำ ท้ายสุดไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมืองในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คนก็จะโทษได้ว่านั่นเป็นเพราะเราไม่ใส่ใจในระบบการศึกษาของผู้มีอำนาจ และเป็นความผิดที่อาจอภัยให้กันไม่ได้นานเป็นชั่วอายุคน
โดย
ประกอบ คุปรัตน์
สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก
www.childthai.org-- จบ--
-อน-