กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--โคลัมเบีย ไทรสตาร์
"คุณไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป" ฮาร์ตเน็ตต์อธิบายต่อ "มีคนที่ยืนอยู่บนตึกยิงใส่คุณ คุณจะได้ยินเสียงและเห็นรอยกระสุน คุณจะได้ยินเสียงระเบิดอาร์พีจี ได้เห็นมันระเบิดข้างๆ ตัวคุณ สำหรับนักแสดงแล้ว เป็นเรื่องง่ายมากที่คุณจะเกิดความรู้สึกว่าคุณกำลังโดนยิงอยู่จริงๆ"
ยวน แม็คเกรเกอร์เล่าเสริมว่า "ไม่จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งแสดงอะไรเลย เพราะมันเหมือนกับเรื่องจริงมาก ทีมที่ทำสเปเชียล เอฟเฟกต์นี่สุดยอดจริงๆ ผมเคยแสดงภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่องที่พวกเขาจะใส่สเปเชียล เอฟเฟกต์เข้าไปในคอมพิวเตอร์ทีหลัง ซึ่งมันก็ดี แต่กับภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อคุณวิ่งไปตามถนนโดยมีระเบิดๆ ขึ้นทุกหนทุกแห่ง มันให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังวิ่งอยู่ในดงกระสุนจริงๆ"
"มันทำให้คุณรู้สึกอินไปตั้งแต่ครั้งแรกที่คุณต้องแสดงแล้ว" อีริค บาน่าช่วยยืนยัน "ผมยังจำเทกแรกที่ผมต้องแสดงฉากที่ปืนกล .50 คาลิเบอร์เริ่มกระหน่ำยิงได้ เสียงมันดังกระแทกหู แล้วริดลีย์ก็สั่งให้ทหารโซมาเลียอย่างน้อย 100 นายกระหน่ำยิงใส่คุณในเวลาเดียวกัน ดังนั้น มันจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกต่างๆ มากมายไปหมด แล้วพอคุณเริ่มคุ้นเคยกับเสียงเหล่านั้น มันจะยิ่งน่ากลัวมากขึ้นไปอีก"
วิลเลี่ยม ฟิชต์เนอร์เล่าว่า "ผมยังไม่เคยอยู่ในฉากที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ไม่มีที่ว่างให้คุณสับสนได้เลย จงรู้หน้าที่ของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ริดลีย์คาดหวังจากคุณ แล้วพวกเขาทุกคนก็ทำสำเร็จ เหมือนกับการทำงานของนาฬิกา ไม่มีที่ไหนจะเหมือนที่นี่อีกแล้ว"
ริดลีย์ สก็อตต์ออกมาให้ความเห็นว่าทีมนักแสดงกลุ่มนี้ "ดูจะอินไปกับบทบาทมากกว่าในภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ผมเคยเกี่ยวข้องมา ถ้าพวกเขาไม่ได้เข้าฉากถ่ายทำล่ะก็ โดยปกติแล้วพวกเขาก็จะยังมาที่กองถ่าย และดูขั้นตอนการทำงานอื่นๆ มันกลายเป็นเรื่องน่าทึ่งที่นักแสดงเหล่านี้ได้ผสมผสานกันจนกลายเป็นทีมที่เหนียวแน่น ซึ่งน่าประทับใจจริงๆ มันกลายเป็นเหมือนกับในตัวภาพยนตร์ เพราะสุดท้ายในการทำงานแต่ละวัน เราพยายามที่จะค้นหาปรัชญาที่ทำให้ทหารกลุ่มนี้รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน หลายคนอาสาพาตัวเองมา แต่เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาอยากจะทดสอบตัวเอง พวกเขากำลังมองหาสิ่งท้าทาย สำหรับคนอื่นๆ มันเป็นเรื่องของครอบครัว การมีพ่อ มีปู่ หรือพี่น้องที่เคยเป็นทหารมาก่อน มันมีการเชื่อมโยงทางด้านประวัติศาสตร์ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ดูน่าสนใจ และอุทิศตัวให้กับประเทศชาติอย่างจริงจัง"
แผนกอาวุธอยู่ภายใต้การดูแลของไซม่อน แอ็ตเธอร์ตัน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธแถวหน้าของวงการภาพยนตร์ สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down นี้ แอ็ตเธอร์ตันกับทีมงานของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษต้องสรรหาอาวุธต่างๆ ที่เคยใช้กันจริงๆ ในการต่อสู้ครั้งนั้น ซึ่งก็รวมถึงปืนไรเฟิล เอเค-47 ของโซเวียต, ระเบิดอาร์พีจี และปืนไรเฟิลติดสปริงที่พวกโซมาเลียใช้ ทางด้านอเมริกันนั้นอาวุธที่ใช้ก็คือ ปืนเอ็ม 16 ปืนกลบราวนิ่ง .50, ปืนต่อต้านรถถังที่เรียกกันว่า LAW, ปืนกลเอ็ม 60 และปืนอัตโนมัติ SAW กับปืนขนาดเล็กที่ติดเอาไว้กับเครื่องแบล๊กฮอว์ก และลิตเติลเบิร์ด, ปืนกลพลังไฟฟ้าที่สามารถยิงได้ด้วยความเร็ว 4000 ลูกต่อนาที ปืนทุกกระบอกจะต้องผ่านการปรับแต่งจากแอ็ตเธอร์ตันและลูกทีมของเขาเพื่อให้สามารถยิงด้วยกระสุนปลอม และพวกเขายังต้องทำปืนปลอมจากยางที่ดูเหมือนของจริงเพื่อให้ตัวประกอบที่ไม่มีบทต้องยิงถือด้วย
ฟิล นีลสัน ผู้ดูแลงานสตั๊นต์เคยเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างโลกแห่งการต่อสู้ทั้งในสมรภูมิรบและในสนามต่อสู้ในภาพยนตร์เรื่อง Gladiator มาแล้ว บัดนี้ เขาต้องใช้ประสบการณ์ในกองทัพอเมริกันที่เขาเคยผ่านงานมาเพื่อสร้างฉากสตั๊นต์ที่มีความซับซ้อน รวมไปถึงฉากแอ็กชั่นในสมรภูมิการต่อสู้ "ผมได้ดึงตัวบุคลากรที่เคยเป็นทหารผู้มีประสบการณ์และความรู้ที่จะช่วยสร้างฉากเหล่านี้มาช่วยงานหลายคน" นีลสันอธิบาย "เพราะเรากำลังทำงานสร้างฉากแอ็กชั่นที่ยิ่งใหญ่ ที่อาจจะมีตัวประกอบเป็นร้อยๆ หรือเป็นพันๆ คน ผมต้องหาคนที่จะมาช่วยแบ่งปันความรับผิดชอบ เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะดูแลงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้นเราจึงมีทีมงานสตั๊นต์หลายคนที่เป็นคนอเมริกัน และเป็นคนโซมาเลีย ให้เข้ามาช่วยกันสร้างฉากต่อสู้และฉากระเบิด นี่ยังไม่รวมถึงฉากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของเรามาก"
"สิ่งแรกที่พวกเราคำนึงถึงอยู่เสมอ" นีลสันอธิบายต่อ "ก็คือความปลอดภัยของทีมนักแสดง ทีมงานหลังกล้อง ตัวประกอบ และผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เราถ่ายทำภาพยนตร์กันอยู่" (เมื่องานถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down สิ้นสุดลง ไม่มีทีมงาน นักแสดง หรือตัวประกอบได้รับบาดเจ็บสาหัสเลยแม้แต่คนเดียว) สำหรับนีลสันยังเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องปฏิบัติตามข้อวินิจฉัยของริดลีย์ สก็อตต์เพื่อให้ฉากแอ็กชั่นออกมาอยู่ในขอบเขตของความเป็นจริง "ผมไม่ได้เป็นพวกคลั่งไคล้ในฉากโอเว่อร์ๆ แบบฮอลลีวู้ดหรอกนะ" นีลสันกล่าว "ผมเป็นพวกที่ชอบความเป็นจริงมากกว่า และมันก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ Black Hawk Down มีความสมจริงอย่างที่สุด"
องค์ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ฉากการต่อสู้ของ Black Hawk Down ออกมาดูยิ่งใหญ่ สมจริง ก็คือ งานสเปเชียล เอฟเฟกต์ของนีล คอร์บูลด์ เจ้าของรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan และทีมช่างเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในความดูแลของเขา "ความยิ่งใหญ่ของ Black Hawk Down อยู่ที่จำนวนของสเปเชียล เอฟเฟกต์" คอร์บูลด์กล่าว "ผมเคยสร้างภาพยนตร์สงครามมาแล้วหลายเรื่อง ซึ่งในภาพยนตร์เหล่านั้น มันจะมีฉากที่ไม่ได้เป็นฉากสงครามแทรกอยู่เยอะ แต่กับภาพยนตร์เรื่องนี้ มันจะมีฉากยิงกัน ฉากระเบิด และฉากเฮลิคอปเตอร์ตกแบบไม่หยุดเลย เราต้องขนเทรเลอร์ 25-40 คันมาจากอังกฤษ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยระเบิด ดินปืน กระสุนปืน ที่มาพร้อมกับหน่วยควบคุมเรดาร์ จากนั้นเรายังต้องนำยานพาหนะที่บรรจุข้าวของที่จำเป็นสำหรับใช้ประกอบฉากมาอีกเพียบ"
"เราต้องตั้งกล้องเอาไว้ประมาณห้าถึงเจ็ดตัวในการถ่ายทำแทบทุกเทก" คอร์บูลด์อธิบาย "และกล้องทุกตัวจะต้องโดนกระสุนยิง และอาจจะต้องเกิดระเบิดขึ้นตรงหน้ากล้องหนึ่งหรือสองครั้ง เรายังต้องทำเอฟเฟกต์ควันไฟ ทำศพปลอม และแต่งเลือดตามตัวนักแสดง เกือบทุกชอตของฉากต่อสู้จะต้องใช้เวลานาน เพราะมันเต็มไปด้วยเอฟเฟกต์ ดังนั้นเราจึงต้องใช้คนถึง 40 คนในการเตรียมงาน"
"เวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก" คอร์บูลด์อธิบายเพิ่มเติม "และเห็นได้ชัดว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเรา เราจะทำการซ้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนกว่าพวกเราจะพอใจ เพราะในชอตที่ยุ่งยากที่สุด เราต้องยิงกระสุนออกไปถึง 1,200 นัดในเทกเดียวเท่านั้น"
คอร์บูลด์และทีมงานของเขายังต้องสร้างเครื่องแบล๊กฮอว์กของปลอมขนาดเกือบเท่าของจริงขึ้นมาหลายลำ ซึ่งก็รวมถึงซากของเครื่องซูเปอร์ซิกซ์วัน และซูเปอร์ซิกซ์โฟร์ "เราเริ่มต้นกันด้วยการทำเครื่องแบล๊กฮอว์กจำลองที่ทำจากไม้อัดจำนวน 50 แผ่นที่เราออกแบบจากโมเดลที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์ จากนั้นเราก็ลองส่วนข้างนอกออก และสร้างส่วนภายในจากภาพถ่ายที่ผมได้มาในฟลอริด้า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องลดสเกล...ทุกรายละเอียดที่อยู่ในนั้น"
บางทีสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดก็คงจะเป็นการติดเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นเอาไว้กับเครนตัวสูงที่คอร์บูลด์ออกแบบเอาไว้ และสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในฉากที่นักแสดงในบทหลักๆ ต้องแสดงอยู่ในเครื่องแบล๊กฮอว์ก ขณะที่มันบินหรือร่อนไปมาอยู่เหนือโมกาดีชู เพื่อความสมจริง ริดลีย์ สก็อตต์ไม่ต้องการใช้เทคนิคการถ่ายภาพหน้าจอบลูสกรีน
"โดยทั่วไปแล้ว เราจะใช้เครนขนาด 160 ตันที่มีฐานบังคับการเคลื่อนที่ และโยงเข้ากับเครื่องแบล๊กฮอว์กจำลอง เพื่อให้ได้อารมณ์แบบการเคลื่อนไหวจริง" คอร์บูลด์อธิบาย "เราสามารถบังคับให้เฮลิคอปเตอร์เคลื่อนไหวแบบมุม 360 องศา คือสามารถเคลื่อนที่ไปทางซ้าย ขวา ขึ้นลง เดินหน้า ถอยไปข้างหลังได้ เรายังสามารถเหวี่ยงเครนไปรอบๆ จนดูเหมือนกับเรากำลังตระเวณไปทั่วเมืองจริงๆ" สำหรับฉากที่เครื่องซูเปอร์ซิกซ์วันจะต้องโหม่งพื้นในแถบอลาโม่คอมเพล็กซ์ คอร์บูลด์จัดการวางแผนงานที่มีความซับซ้อนด้านเทคนิคมากขึ้น "การใช้เครนขนาด 160 ตันอันเดิม เราใช้ลวดสลิงความยาว 150 เมตรที่ตรึงลงไปจนพื้น จากนั้น เราได้สร้างเครื่องแบล๊กฮอว์กที่มีน้ำหนักเบาที่เราห้อยเอาไว้กับเคเบิล โดยพื้นฐานแล้ว มันจะต้องไหลไปตามเส้นลวด ปะทะเข้ากับน้ำพุที่อยู่ตรงกลางจตุรัส จากนั้น เมื่อเราตัดสายเคเบิล เฮลิคอปเตอร์ก็จะกระแทกลงสู่พื้น เพื่อให้เกิดแรงกระแทกที่สมจริง"
ระเบิดและกระสุนปลอมที่ควบคุมด้วยสัญญาณวิทยุ รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสิ่งของที่พบเห็นเป็นประจำในกองถ่ายภาพยนตร์ เป็นสิ่งต้องห้ามในพื้นที่ถ่ายทำ ทั้งนี้ก็เพราะมันมีอันตรายในแง่ที่อาจจะไปก่อให้เกิดผลกระทบต่อเอฟเฟกต์ต่างๆ ที่คอร์บูลด์และทีมของเขาได้จัดเตรียมเอาไว้
คอร์บูลด์และทีมงานของเขายังต้องรับผิดชอบงานทำศพปลอม ซึ่งตามปกติแล้วจะเป็นหน้าที่ของอีกแผนกหนึ่งแยกต่างหากออกไป การที่คอร์บูลด์ต้องรวมงานทำศพปลอมเอาไว้ในการดูแลของเขาด้วยก็เพื่อทำให้งานทุกอย่างประสานกันไปได้ด้วยดี ศพปลอมแบบเต็มตัวหลายศพต้องถูกทำขึ้นให้เหมือนกับนักแสดงหลายคน โดยจะต้องมีบาดแผลที่ดูเหมือนบาดแผลที่เกิดจากสงคราม ดังนั้น คอร์บูลด์จึงต้องทำงานประสานกับแผนกแต่งหน้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ฟาบริซิโอ สฟอร์ซ่า ช่างแต่งหน้ามืออาชีพ (ที่มีผลงานอย่าง The Last Emperor, The Talented Mr. Ripley และ Hannibal) และทีมงานซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นชาวอิตาเลี่ยน
ที่ปรึกษา
ที่เข้ามาช่วยคงความสมจริงให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ ที่ปรึกษาด้านการทหาร แฮร์รี่ ฮัมฟรีส์ และลูกทีมคำสำคัญอีกสองคนของเขา ซึ่งทั้งคู่ต่างเคยผ่านประสบการณ์การสู้รบจริงๆ และเพิ่งจะเกษียณตัวเองจากกองทัพเมื่อไม่นานมานี้ พันเอกโธมัส แมทธิวส์ ผู้บัญชาการทางอากาศของภารกิจ ซึ่งตระเวณดูการสู้รบอยู่บนเครื่อง ซี-2 เบิร์ด ซึ่งเป็นเครื่องแบล๊กฮอว์กที่ทำหน้าที่ฝูงบัญชาการและควบคุม คือผู้บังคับบัญชาหน่วยไนต์สทอลเกอร์ ซึ่งเป็นทีมเฮลิคอปเตอร์ที่เป็นกำลังหนุนให้กับกองกำลังพิเศษภาคพื้นดินทั่วโลก พันเอกหน่วยรบพิเศษ ลี แวน อาร์สเดล คือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลภารกิจที่ศูนย์ Joint Operations Center ซึ่งเป็นคนช่วยนำขบวนช่วยเหลือมุ่งสู่โมกาดีชู เพื่อช่วยเหลือทีมแรนเจอร์และทีมเดลต้าฟอร์ซที่ติดอยู่ในวงล้อม
"แฮร์รี่ ฮัมฟรีส์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในกองถ่าย" เจอร์รี่ บรัคไฮเมอร์บอก "เขาต้องทำงานร่วมกับนักแสดงและตัวประกอบวันต่อวันเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างออกมาถูกต้องที่สุด นับว่าพวกเราโชคดีมากที่ได้ทอมกับลีมาอยู่กับพวกเราด้วย เพราะพวกเขาเคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว และสามารถตอบคำถามทุกคำถามที่ริดลีย์อาจจะมีได้ พวกเขาช่วยเราได้มากทีเดียว"
"เป็นเรื่องวิเศษมากที่มีแฮร์รี่, ลี และทอม มาอยู่ที่กองถ่ายด้วยทุกวัน" ริดลีย์ สก็อตต์บอก "พวกเขาจะรีบบอกเราทันทีถ้ามีอะไรที่พวกเขาคิดว่ามันไม่สมจริงพอล่ะก็"
"การเดินทางไปโมร็อคโคไม่ใช่สิ่งที่ผมวางแผนจะทำเลยเมื่อผมเกษียณ" แมทธิวส์ยอมรับ "แต่เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพวกทหารที่เสียชีวิตไปในการปฏิบัติครั้งนั้น รวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย ผมจึงมาถึงบทสรุปที่ว่าผมจะต้องร่วมงานกับโปรเจกต์นี้ หยุดเรื่องอื่นเอาไว้ก่อนและทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับภาพยนตร์เรื่องนี้"
ลี แวน อาร์เดล ซึ่งเพิ่งเกษียณจากกองทัพเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่เพียงแต่มองเห็นถึงความทุ่มเทที่แมทธิวส์มีต่อเพื่อนทหารที่พวกเขาเคยร่วมรบด้วยในโมกาดีชูเท่านั้น แต่เขายังมองเห็นโอกาสที่จะได้แก้ไขบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ถูกต้องหลังจากที่มันถูกเข้าใจผิดๆมานานเกือบสิบปีแล้ว "ความจริงที่ผมคิดว่าผู้คนส่วนมากไม่เคยรับรู้ ยกเว้นพวกเราที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ก็คือ พวกเราปฏิบัติภารกิจอย่างประสบความสำเร็จในมุมมองทางด้านทหารและแทคติกต่างๆ เราสามารถจับตัวสองนายทหารชั้นสูงของไอดิด รวมไปถึงบอดี้การ์ดของพวกเขาที่อาจยังทำงานอยู่ในสมัยนั้น และนั่นก็คือสิ่งที่เราทำสำเร็จจริงๆ"
"ทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่า มันไม่ได้เป็นไปตามแผน" แวน อาร์สเดลกล่าวต่อ "เราต้องเผชิญกับเหตุคาดไม่ถึงเมื่อเฮลิคอปเตอร์เกิดตก แต่เราก็ไม่ได้วางแผนไว้เลยว่าจะต้องมาสูญเสียเพื่อนทหารไปถึง 18 นาย แต่ผมจะไม่สับสนระหว่างการสูญเสียชีวิตที่เป็นเรื่องเศร้ากับวัตถุประสงค์ที่ล้มเหลวอย่างเด็ดขาด ผมแทบช็อคเมื่อผมได้อ่านข่าวที่เรียกภารกิจครั้งนี้ว่าเป็น "การพังทลาย" หรือ "ความล้มเหลว" ถ้าจะถือว่าเป็นเช่นนั้น การบุกขึ้นฝั่งที่นอร์มังดีในวันยกพลขึ้นบก ก็ต้องถือว่า "เป็นความพินาศ" เพราะว่าเราต้องสูญเสียชีวิตชาวอเมริกันไปเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความเป็นจริง เราได้พัฒนามาถึงยุคนี้ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิตไปในสนามรบ ซึ่งจากมุมมองนั้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ผมต้องสูญเสียเพื่อนดีๆ ไปในโซมาเลีย และผมก็ไม่อยากจะต้องเสียเพื่อนไปอีก" (ยังมีต่อ)
-สส-