กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานหนุนติดโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน 50 หลัง

18 Feb 2002

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สพช.

คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อนุมัติให้การสนับสนุนติดโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านอีก 50 หลัง หลังจากประสบความสำเร็จอย่างดี 10 หลังแรก

นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 ว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 24 ล้านบาท ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำโครงการสาธิตระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน นวน 50 หลังคาเรือน

หลังจากประสบความสำเร็จในการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านจำนวน 10 หลังคาเรือน ในปี 2540 โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ สร้างค่านิยมในการมีส่วนร่วมผลิตและใช้ไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน และมีส่วนช่วยในการลดการทำลายสภาพแวดล้อมจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยสามารถผลิตได้ประมาณ 3,750-4,500 หน่วยต่อปี หรือประมาณ 300 หน่วยต่อเดือน และได้มีการติดตามประเมินผล 1 ปีให้หลัง พบว่าเจ้าของบ้านมีความพึงพอใจอย่างมาก สามารถดูแลระบบได้ด้วยตนเอง และระบบสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการได้รับความสนใจอย่างมาก จึงมีผู้สนใจแจ้งความจำนงอีกนับ 100 ราย กฟผ.จึงได้จัดทำโครงการเฟส 2 ขึ้นอีกจำนวน 50 หลังคาเรือน

โดยจะติดตั้งโซล่าเซลล์ที่กำลังการผลิตขนาดไม่ต่ำกว่า 3.15 กิโลวัตต์ และไม่เกิน 3.20 กิโลวัตต์ ที่มีค่าใช้จ่ายต่อ 1 ระบบประมาณ 750,605 บาท โดยกองทุนฯ จะช่วยแบบให้เปล่า 47.70% ประมาณ 343,026 บาท รวม 50 หลังคาเรือน เป็นงบประมาณที่สนันสนุน 24,268,324 บาท จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 189,000 หน่วย/ปี สามารถลดการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าลงได้ 58,154 ลิตร/ปี

หลังจากได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว กฟผ. จะทำการคัดเลือกชนิดของโซล่าเซลล์ว่าจะเป็นแบบผลึก(Crystalline) หรือแบบอะมอฟัส (Amorphous) โดยจะพิจารณาระบบที่ให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำสุดเป็นหลัก สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาผู้มีสิทธ์เข้าร่วมโครงการติดโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน 50 หลังคาเรือน ต้องเป็นบุคคล หรือนิติบุคคล ที่มีสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีค่าการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 700 หน่วย/เดือน และอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดที่กำหนด

"สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะกับภูมิอากาศเขตร้อนชื้น โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ต้นแบบชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอน ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี และได้ทำการทดลองผลิตเซลล์ชนิดอะมอฟัสซิลิกอน และสามารถพัฒนาประสิทธิภาพของเซลล์ได้ที่ระดับ 7.3% และคาดว่าจะสามารถพัฒนาได้ถึง 10% และภายในปี 2546 สวทช. มีเป้าหมายที่จะผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 30 กิโลวัตต์ โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 148 ล้านบาท เป็นงบประมาณของ สวทช. 58 ล้านบาท และจากกองทุนฯ 90 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สวทช.จึงของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทุนฯ โดยคณะกรรมการกองทุนได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณให้อีก 30 ล้านบาท" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2

โทรศัพท์ 0 2612 1555 ต่อ 201-5 โทรสาร 0 2612 1368121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--

-อน-