กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--กรมควบคุมมลพิษ
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า "กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินโครงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของแหล่งกำเนิดมลพิษต่อสาธารณะ โดยช่วงนำร่องของโครงการฯ ได้คัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่มีการผลิตที่ก่อมลพิษทางน้ำสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผัก ผลไม้ กระป๋อง และอุตสาหกรรมปลากระป๋อง โดยเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมฯจะเก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง ณ จุดที่ระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หรือสิ่งแวดล้อมนอกเขตโรงงานอุตสาหกรรมมาวิเคราะห์ตรวจสอบค่าความสกปรก และรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมายของโรงงาน เช่น การรายงานผลมลพิษทงอากาศ การจัดการกากของเสียของโรงงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงาน ทั้งนี้รวมถึงสถิติการร้องเรียนจากประชาชนและการสอบถามข้อมูลจากประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณโรงงาน แล้วจึงนำมาประเมินผลและจัดลำดับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้"
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า "เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไปตรวจสอบการควบคุมมลพิษหรือการรักษาสิ่งแวดล้อมของแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ ทั่วประเทศตลอดเวลาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งการเฝ้าระวังของท้องถิ่นและเจ้าของผู้ประกอบการที่จะดูแลเอาใจใส่กิจการของตัวเองไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน สังคมไทยมีความแตกต่างกันมากในจิตสำนึกของผู้ประกอบการ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติดี ลงทุนและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมก็ควรได้รับการยกย่องและผู้ที่สร้างปัญหามลพิษก็ควรที่สังคมจะได้รับรู้แม้ว่าการดำเนินการทางกฎหมายโดยตรงจะไม่ได้ผลมากนัก จึงต้องใช้กลยุทธ์ในการดำเนินโครงการนี้"
"การพิจารณาจัดลำดับการจัดการสิ่งแวดล้อมของแหล่งกำเนิดมลพิษจะใช้สีและสัญลักษณ์ดาวแสดงระดับการควบคุมมลพิษ โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ยอดเยี่ยม (สีทอง/5 ดวง) ดีมาก (สีเขียว/ 4 ดวง) ดี (สีฟ้า / 3 ดวง) พอใช้ (สีม่วง /2 ดวง) และปรับปรุง (สีแดง / 1 ดวง) ส่วนแหล่ง กำเนิดมลพิษที่ไม่ให้ตรวจสอบจะถูกจัดว่า ไม่ให้ความร่วมมือ (สีดำ / ไม่มีดาว)
หลักเกณฑ์ การจัดระดับการจัดการสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือระดับ 1 ยอดเยี่ยม
(1) ผ่านหลักเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมระดับ 2 (ระดับดีมาก)
(2) สถานประกอบการเป็นที่รักใคร่ หรือเป็นที่ต้องการของชุมชน (Community Friendly) หรือทำคุณประโยชน์แก่สังคม โดยการประเมินของบุคคลที่ 3 (ตามที่กรมควบคุมมลพิษเห็นชอบ)
ระดับ 2 ดีมาก
(1) ผ่านหลักเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมระดับ 3 (ระดับดี)
(2) ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14000s
(3) ไม่มีการระบายน้ำเสีย หรือมีการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ 100 % (Zero discharge) หรือระบายของเสียออกในปริมาณที่ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงศักยภาพการรองรับของเสียของสิ่งแวดล้อม
ระดับ3 ดี
(1) ผ่านหลักเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมระดับ 4 (ระดับพอใช้)
(2) ไม่เคยมีเรื่องรัองเรียนทางด้านสิ่งแวดล้อมตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา
(3) มีการรายงานผลการจัดการคุณภาพอากาศ (กรณีเป็นโรงงานที่เข้าข่ายต้องรายงานตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535)
(4) มีการจัดการบริเวณโรงงานเป็นระเบียบและสะอาด (Good housekeeping)
(5) จัดการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
(6) มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง
(7) นำเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) มาใช้ หรือนำแนวทางการผลิตที่สะอาด (Cleaner Prodection) มาปฏิบัติ
ระดับ4 พอใช้
(1) ผลการตรวจวิเคราะห์น้ำทิ้งผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (คัดเลือกเฉพาะพารามิเตอร์ที่สำคัญขึ้น อยู่กับประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ) กรณีที่สถานประกอบการไม่ได้ปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก หรือไม่สามารถตรวจสอบหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า โรงงานลักลอบปล่อยนน้ำเสียที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ออกสิ่งแวดล้อมให้ถือว่า โรงงานผ่านหลักเกณฑ์ข้อนี้
(2) มีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต
(3) มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด) และปฏิบัติตามเงื่อนไขการขออนุญาต
(4) มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย กรณีมีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครอง (ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535)
(5) มีการรายงานผลการจัดการคุณภาพน้ำและอากาศตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ตาม พ.ร.บ. พ.ศ. 2535)
(6) มีการรายงานการจัดการกากของเสีย และมีเอกสารการกำจัดถูกต้อง กรณีเข้าข่ายที่ต้องรายงาน (ตามพ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535)
(7) มีการตรวจสอบสภาพและเอกสารควบคุมความปลอดภัยของหม้อไอน้ำ (ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535)
(8) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีเป็นประเภทที่กฎหมายกำหนดให้จัดทำรายงาน (ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535)
ระดับ5 ปรับปรุง
*ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมระดับ 4 (ระดับพอใช้)
ไม่ให้ความร่วมมือ
*สถานประกอบการแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในตอนท้ายว่า "การเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการหรือแหล่งกำเนิดจะสามารถสร้าง แรงจูงใจและแรงกดดันให้ผู้ก่อมลพิษตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และหันมาปฏิบัติตามกฎหมาย ลดปริมาณมลพิษแทนการปล่อยมลพิษ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีการปรับปรุงการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานให้ดีขึ้น จะได้เลื่อนระดับสูงขึ้นได้อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากสังคม และร่วมกันพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ กลไกดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้ภาคการผลิตเร่งการนำแนวทางการผลิตที่สะอาด หรือเทคโนโลยีสะอาดมาประยุกต์ใช้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นหลักการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อมไอด้วยพร้อมกัน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลทั่วโลกและตลาดโลกต้องการ--จบ--
-สส-