ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานติณสูลานนท์

23 Aug 2002

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม

ในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2545 เวลา 8.30 น. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จะเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานติณสูลานนท์ ข้ามทะเลสาบสงขลาที่เกาะยอ (คู่ขนานสะพานเดิม) ณ บริเวณสวนป๋าเปรม ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจารึก อนุพงษ์ อธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ข้าราชการ สื่อมวลชนและประชาชนมาร่วมพิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมากสะพานติณสูลานนท์ใหม่นี้เป็นสะพานที่จะสร้างคู่ขนานสะพานติณสูลานนท์เดิม โดยมาจากการริเริ่มของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และจากการสนับสนุนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้กรมทางหลวงก่อสร้างปรับปรุงโครงการก่อสร้างสะพานติณสูลานนท์เดิมให้เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณการจราจรในบริเวณจังหวัดสงขลาที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับแผนการก่อสร้างปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงสายหลักในภาคใต้

สะพานติณสูลานนท์เดิม เกิดขึ้นจากที่กรมทางหลวงได้พัฒนาทางหลวงเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านตะวันออกโดยเฉพาะช่วงระโนต - เขาแดง จนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2518 และประชาชนได้หันมาใช้เส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก แต่ทางหลวงเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกนี้ยังขาดในช่วงจังหวัดสงขลา ดังนั้น ยวดยานที่มาจากฝั่งเขาแดงเพื่อไปยังฝั่งอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ต้องใช้แพขนานยนต์ เพื่อข้ามทะเลสาบสงขลา และปริมาณการจราจรบริเวณดังกล่าวเริ่มติดขัดและเสียเวลา กรมทางหลวง จึงได้ศึกษาความเหมาะสมต่างๆ ของโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เพื่อเชื่อมฝั่งสงขลาทางตอนเหนือ และทางตอนใต้ของทะเลสาบสงขลาเข้าด้วยกัน โดยได้ดำเนินการก่อสร้างสะพาน จำนวน 2 สะพาน ความยาว 940 เมตร และ 1,700 เมตร รวมความยาว 2,640 เมตร แต่ละสะพานมี 2 ช่องจราจร ทางรถกว้าง 8 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 1 เมตร ในทางหลวงหมายเลข 408 สาย สงขลา - ระโนต จากฝั่งน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ผ่านเกาะยอในทะเลสาบสงขลาไปยังฝั่งเขาแดง โดยตัวสะพานทั้งสองมีลักษณะโครงสร้างเป็นคานคอนกรีตหล่อสำเร็จรูปเป็นกล่องสั้นๆ นำมาวางเรียงกันแล้วร้อยลวดชนิดแรงดึงสูง

และดึงลวดอัดแรงให้ประกบติดเข้าด้วยกันเป็นสะพานที่มีช่วงต่อเนื่องไปตลอดความยาวของสะพาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า "สะพานติณสูลานนท์" เพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น โดยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2527 พลเอก เปรม

ติณสูลานนท์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการก่อสร้าง และวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน 2529 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพาน ติณสูลานนท์อย่างเป็นทางการ

สะพานติณสูลานนท์นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง และนำความเจริญมาสู่สองฝั่งแผ่นดิน ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ให้ยั่งยืนสืบไปอีกด้วย--จบ--

-ศน-