กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กทม.
ปลัดกทม.เชิญสมาคมผู้ผลิตป้ายโฆษณาร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาป้ายประชาสัมพันธ์ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อวานนี้ (7 ส.ค.45) เวลา 10.30 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เชิญนายกสมาคมผู้ผลิตป้ายโฆษณาและผู้ประกอบการป้ายโฆษณามาร่วมประชุมหารือถึงแนวทาง และมาตรการในการแก้ไขปัญหาป้ายประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ อาทิ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งติดตั้งในพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน, ป้ายประชาสัมพันธ์ที่ติดตั้งในที่สาธารณะทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และป้ายประชาสัมพันธ์ที่ปล่อยว่าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ควรจะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ฯพณฯ นายก รัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการกวดขันเรื่องป้ายอย่างเร่งด่วน เพื่อทัศนียภาพที่สวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งสำนักการโยธากรุงเทพมหานครได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจออกตรวจสอบป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ชุด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.45 ขณะนี้สามารถดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 34 เขต มีป้ายโฆษณา จำนวนทั้งสิ้น 648 ป้าย เป็นป้ายที่ไม่มั่นคงแข็งแรงจำนวน 288 ป้าย อย่างไรก็ดีคาดว่าจะดำเนินการตรวจสอบป้ายแล้วเสร็จทั้ง 50 เขต ประมาณ 20 ส.ค.45
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาตรวจสอบป้ายโฆษณาได้ยึดหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ 1.ป้ายที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง มีการก่อสร้างถูกต้อง ทางคณะกรรมการเฉพาะกิจก็จะดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อยืนยันความถูกต้องและได้มาตรฐาน 2.ป้ายที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง มีการก่อสร้างผิดแบบ ทางผู้ประกอบการจะต้องทำการปรับปรุงหรือรื้อถอนภายใน 30 วัน 3.ป้ายที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ขออนุญาตได้ ทางผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องต่อไป 4.ป้ายที่ไม่ได้รับอนุญาตและอนุญาตไม่ได้ เนื่องจากมีรูปแบบที่ไม่ถูกต้องตามที่กำหนด นอกจากนี้ ป้ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ เอกชน นักการเมือง ที่ติดตั้งในที่สาธารณะ ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแก่บ้านเมืองนั้น หลังจากวันที่ 31 ส.ค.45 กรุงเทพมหานครจะดำเนินมาตราการขั้นเด็ดขาด โดยห้ามติดป้ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ในที่สาธารณะทุกกรณี ยกเว้น ป้ายเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ป้ายรณรงค์การเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตก่อนทำการติดตั้ง
ในส่วนของป้ายที่ถูกปล่อยว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทางผู้ประกอบการควรจะมีการดัดแปลงทำเป็นป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม อาทิ กิจกรรมเทิดพระเกียรติต่าง ๆ กิจกรรมการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องป้ายโฆษณาจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการด้วย
นายวินัย ศิลปศิริพร นายกสมาคมผู้ผลิตป้ายโฆษณา กล่าวว่า ปัจจุบันทางสมาคมผู้ผลิตป้ายโฆษณามีสมาชิกประมาณ 70 บริษัท โดยสมาคมผู้ผลิตป้ายโฆษณาได้ตระหนักถึงความสำคัญของประโยชน์ของส่วนร่วม และยินดีร่วมมือกับกรุงเทพมหานครรวมทั้งหน่วยงานราชการในการแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะนี้ทางสมาคมฯ กำลังหารือและมีการจัดตั้งทีมวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของป้ายโฆษณาด้วย--จบ--
-นห-