"พิทักษ์" สานฝันปั้น "เครือข่ายนักอนุรักษ์พลังงาน" ตั้งเป้าผลิตให้ได้ปีละ 100,000 คน

24 Sep 2002

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สพช.

นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศสานฝันสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการปั้น "เครือข่ายนักอนุรักษ์พลังงาน" ปีละ 100,000 คน

นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ให้มีหน้าที่ดูแลนโยบายด้านพลังงานและการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ริเริ่มโครงการประหยัดพลังงานใหม่ๆ เช่น โครงการประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ โครงการรวมพลังหยุดรถซดน้ำมัน โครงการปิดถนน โครงการด้านพลังงาน

ทดแทน เช่น การผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และโครงการวิจัยและพัฒนาด้านก๊าซชีวภาพจากของเสียต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญอย่างมากก็ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้านอนุรักษ์พลังงาน หรืออาจเรียกว่า โครงการ "สร้างนักอนุรักษ์พลังงาน" ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เป็นทรัพยากรบุคคลและเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์พลังงานของประเทศต่อไป ด้วยการส่งเสริมให้มีการปลูกฝังแนวความคิดในการอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเยาวชน รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอกอีกด้วย

อย่างเช่น โครงการรุ่งอรุณที่ดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โครงการ รถนิทรรศการเคลื่อนที่ดำเนินงานโดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน โครงการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีและที่อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี โครงการขยะเพิ่มทรัพย์เพื่อรีไซเคิลขยะที่ดำเนินการในโรงเรียนและชุมชนตัวอย่างมากกว่า 50 แห่ง รวมถึงโครงการส่งเสริมการศึกษา โดยสนับสนุนทุนวิจัยและทุนการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก

เพื่อสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์พลังงานให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีนักศึกษาที่จบมาแล้วกว่า 300 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก แล้วประมาณ 60 คน

นายพิทักษ์กล่าวต่อว่ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้พยายามสนับสนุนให้มีโครงการที่ส่งเสริมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน โดยเริ่มตั้งแต่การสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แก่บุคคลทุกระดับอายุ นับแต่วัยเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยมีรูปแบบที่ หลากหลาย ซึ่งในอนาคตจะผลักดันให้เกิด "เครือข่ายนักอนุรักษ์พลังงาน" เพื่อให้มีการ รวมพลังกันทำงาน ทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ นับตั้งแต่เกิดการรวมกลุ่มของ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือโครงการในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม ที่จะทำงานด้านอนุรักษ์พลังงานและการรีไซเคิลขยะในโรงเรียน

เกิดกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ที่สนใจศึกษาและทำวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ 8 แห่ง และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 8 แห่ง ที่ร่วมโครงการอยู่

เกิดการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะแล้วนำมารีไซเคิลและขยายไปสู่การประหยัดพลังงาน เกิดศูนย์การเรียนรู้และอบรมด้านอนุรักษ์พลังงานทั่วประเทศที่สามารถรองรับผู้ สนใจได้ปีละนับแสนคน รวมทั้งเกิดกระบวนการเรียนการสอนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้นในโรงเรียน

"กลุ่มต่างๆ ทั้งหมดนี้ มีทั้งที่ผ่านการศึกษาปีละไม่น้อยกว่า 50 คน และผ่านการศึกษาดูงานและการอบรมปีละกว่า 100,000 คน ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วจะเห็นเป็น เครือข่ายที่กว้างขวาง ประกอบด้วยคนทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย และหวังว่าด้วยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประกอบกับการทำงานของสำนักงานคณะ-กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่จะมารวมกันในกระทรวงพลังงาน

รวมทั้งหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษา และมูลนิธิต่างๆ จะทำให้เกิด "เครือข่ายนักอนุรักษ์พลังงาน" ที่เข้มแข็งและ มั่นคงสืบไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่ออนาคตของประเทศชาติในที่สุด" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้าย--จบ-- -ศน-