รองนายก ฯ พิทักษ์ เปิดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "แผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน"

26 Sep 2002

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สศก.

วันนี้ (วันที่ 23 กันยายน 2545) ณ ห้องพึ่งบุญ ชั้น 8 อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเรื่องยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน" ว่า ปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าเกษตรหนึ่งใน 12 สินค้าเกษตรที่จะต้องเร่งรัดจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดให้มีความสามารถที่ทัดเทียมและแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ผลิตสำคัญ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซียให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2546 นี้ น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าหนึ่งที่ไทยต้องลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 5 และเปิดให้มีการนำเข้าอย่างเสรี ซึ่งการปฏิบัติตามพันธะผูกพันนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่รอดร่วมกันได้

ความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เร็วที่สุด

จึงเป็นภาระกิจอันดับแรกที่ต้องทำ

การที่ไทยมีความเสียเปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ มิได้หมายความว่าไทยต้องเลิกปลูกปาล์มหรือเลิกผลิตน้ำมันปาล์ม และหันมานำเข้าน้ำมันปาล์มทั้งหมดทดแทน เนื่องจากไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตน้ำมันปาล์ม เพื่อเป็นแหล่งที่มาของอาหารและวัตถุดิบสำรองความมั่นคงทางอาหารภายใน หากเกิดปัญหาด้านการผลิตน้ำมันพืชในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริง ความเสียเปรียบของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายด้านที่สามารถแก้ไขได้

โดยปัญหาทั้งหมดจะต้องได้รับการแก้ไขที่ทุกทิศทางและสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ

และเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบการดำเนินการที่ชัดเจนและแน่นอน

นายพิทักษ์ ยังกล่าวอีกว่า แผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันที่จะพิจารณาในวันนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

และเห็นว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ดีมีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน และมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหลักๆ ของอุตสาหกรรม อาทิเช่น พื้นที่ปลูกปาล์มอายุมากกับพื้นที่ปลูกปาล์มด้วยพันธุ์คุณภาพต่ำก็ต้องโค่นทิ้งและปลูกด้วยพันธุ์ดี รวมทั้งพื้นที่ปลูกปาล์มของเกษตรกรที่ปลูกนอกเขตเหมาะสมก็จูงใจให้ปลูกพืชอื่นแทน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้แผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ประสานผลประโยชน์ร่วมกัน มากกว่าต่างฝ่ายต่างดำเนินการและไม่เป็นภาระของรัฐในอนาคต จึงควรมีการพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันนี้อีกครั้งหนึ่งอย่างครบถ้วนและรอบคอบ ซึ่งจะได้ข้อยุติของแผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันที่ดี และจะมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใดจากแผนยุทธศาสตร์เดิมนั้นมาจากการระดมความคิดเห็นและความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา และแผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันที่ได้จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป--จบ-- -ศน-