กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ดีแทค
หลักการของการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
นำเสนอโดย กุนนาร์ เบอร์เทลสัน (Gunnar Bertelsen)
ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการกำกับดูแล (Regulatory Affairs) เทเลนอร์ เอเชีย
ณ เวที Thailand Interconnection Forum (TIF) ครั้งที่สอง
ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย วันที่ 7 มิถุนายน 2545
บทนำ
- ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมในประเทศไทยทุกราย มีสิทธิ์เชื่อมต่อโครงข่าย
- ผู้ประกอบการทุกราย จะต้องสามารถเชื่อมต่อโครงข่าย ภายใต้กรอบเงื่อนไขที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นกลาง และโปร่งใส ทั้งด้านเศรษฐกิจและทางเทคนิค
- การเชื่อมต่อโครงข่าย ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานความทัดเทียมกันทางด้านเทคนิค ในหมู่ผู้ประกอบการ อันจะเป็นการสร้างคุณภาพที่ได้มาตรฐานของบริการ
- ข้อตกลงการเชื่อมต่อโครงข่าย ควรจะมาจากการเจรจาทางธุรกิจ
- ผู้ประกอบการที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายกัน ควรตกลงกันในประเด็นหลักๆ คือ ข้อผูกพันทางกฎหมาย รายละเอียดเฉพาะทางเทคนิค และหลักการคิดค่าเชื่อมต่อ
ภารกิจของ TIF
Thailand Interconnection Forum ควรเป็นเพื่อแสวงหาข้อตกลงที่ครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
- เงื่อนไขที่โปร่งใสและเป็นธรรม รวมถึงสิทธิและหน้าที่ ในการเชื่อมต่อโครงข่าย ทั้งนี้เพื่อสร้างความชัดเจนทางกฎหมายแก่ผู้ประกอบการทุกราย
- ข้อตกลงอันเป็นองค์ประกอบหลักๆของข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม [Reference Interconnection Offers หรือ RIOs] อันจะเป็นแนวทางสำหรับการเจรจาทางธุรกิจต่อไป
- กลไกแก้ไขข้อพิพาท ที่ต้องมีไว้ใช้เมื่อยามที่การเจรจาทางธุรกิจเกิดติดขัด
- รายละเอียดเฉพาะทางเทคนิคของการเชื่อมต่อโครงข่าย
- หลักการคำนวณอัตราค่าบริการเชื่อมต่อโครงข่าย
ในการทำงานของ TIF จำเป็นที่จะต้องกำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าจะหาข้อยุติได้เมื่อไร สำหรับ
- ข้อตกลงชั่วคราว ก่อนที่คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะตัดสินเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่าย
- ขอบเขตการดำเนินการ ที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเห็นชอบ (ทางดีแทคเสนอว่า น่าจะเป็นเดือนสิงหาคมศกนี้ ที่ควรมีแนวทางออกมาได้)
หลักการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
- จำเป็นต้องตกลงกันในหลักการว่า จะคำนวณอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายกันอย่างไร ในหมู่ผู้ประกอบการ
- ในช่วงรอยต่อ ที่ไทยกำลังจะก้าวไปสู่ระบบการคำนวณอัตราเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามต้นทุน [cost-based interconnection regime] น่าที่จะมีการพิจารณาใช้ "ระบบต้นทางเก็บไว้ทั้งหมด"
- ประเด็นใหญ่ที่อาจต้องถกกันก็คือ ข้อดี และข้อเสียของ ระบบต้นทางเก็บหมด กับ ระบบคำนวณอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายตามต้นทุน
ระบบต้นทางเก็บหมด ("sender keeps all," หรือ "bill and keep"):
- ภายใต้ระบบนี้ ผู้ประกอบการที่เชื่อมต่อโครงข่ายกัน ฝ่ายต้นทางไม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมเครือข่ายให้ฝ่ายปลายทาง
- ผู้ประกอบการฝ่ายต้นทางแต่ละราย มีหน้าที่รับผิดชอบส่งสัญญาน ไปถึงจุดเชื่อมต่อโครงข่าย (Point of Interconnection, POI)
- ระบบนี้ เหมาะสมที่จะเป็นข้อตกลงที่นำมาปฏิบัติใช้ชั่วคราว ก่อนที่จะมีข้อตกลงแน่นอน ในกรณีที่
- ผู้ประกอบการตกลงกันได้ว่า ปริมาณการเรียกเข้าเรียกออกระหว่างกันและกัน ของแต่ละฝ่ายมีจำนวนเท่าๆกัน
- ผู้ประกอบการตกลงกันว่า โครงข่ายของแต่ละราย อยู่ในระดับเดียวกัน กล่าวคือ ได้ลงทุนพัฒนาไปในระดับเดียวกัน และครอบคลุมพื้นที่บริการกว้างใหญ่เทียบเคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการในท้องถิ่นสองราย ที่ขนาดธุรกิจพอกัน และต่างให้บริการอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
- ข้อดีของระบบต้นทางเก็บหมดก็คือ บริหารง่าย เพราะไม่ต้องมีการออกใบเสร็จค่าเชื่อมต่อกันในหมู่ผู้ประกอบการ
ประเด็นท้าทายของระบบนี้คือ
- ผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายให้บริการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง จะไม่ได้รับการตอบแทน จากการที่ผู้ประกอบการรายเล็กกว่า มาใช้โครงข่ายอันมหาศาลของตน
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ก็คือ ให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายกันในระดับท้องถิ่น ณ จุดหมายปลายทาง หมายความว่า จะมีการส่งรับสัญญาณข้ามโครงข่ายกันที่ชุมสายท้องถิ่น ฝ่ายรับจะได้ไม่ต้องรับ"สัญญาณโทรศัพท์ทางไกล"ให้อีกฝ่ายหนึ่ง อันเป็นการแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
- ผู้ให้บริการ อาจไม่เห็นแรงจูงใจที่จะพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่ชนบทห่างไกล เนื่องจากค่าใช้จ่ายแพง
Reference Interconnection Offer, RIOs หรือ ข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
- คือ กรอบข้อตกลงการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งจะใช้เป็นรูปแบบ หรือแนวทางสำหรับการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ
- หลายๆ ประเด็นของกรอบข้อตกลงการเชื่อมต่อโครงข่าย เป็นเรื่องพื้นๆ ตรงไปตรงมา ดังนั้น น่าจะตกลงกันได้ไม่ยาก
- กระบวนการเจรจาจะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ด้วยเหตุว่า ทุกฝ่ายได้ร่วมกันตั้งกรอบข้อตกลง ซึ่งมีเนื้อความ หรือเงื่อนไข ตามมาตรฐานที่เข้าใจตรงกันและเห็นชอบกันแล้ว
- บทบาทของ RIO ในการเจรจาต่อรองทางธุรกิจกันก็คือ RIO จะเป็นทางเลือกที่สอง ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้
อัตราค่าบริการเชื่อมต่อโครงข่าย
- โครงข่ายจะมาเชื่อมต่อกันได้ในหลายสถานที่ เช่น ที่ชุมสายท้องถิ่น ชุมสายต่อผ่าน และชุมสายระหว่างประเทศ
- อัตราค่าบริการให้เชื่อมต่อโครงข่าย เปลี่ยนแปลงไปตามจุดเชื่อมต่อที่เลือก ตามลำดับชั้นของชุมสาย (network hierarchy) และขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน
- ยิ่งจุดเชื่อมต่อโครงข่าย อยู่ใกล้ปลายทางเท่าไร ค่าเชื่อมโยงต่อนาที จะยิ่งถูก
- จุดเชื่อมต่อโครงข่าย (POI) แต่ละแห่ง มีต้นทุนการติดตั้งและดำเนินการ หรือต้นทุนคงที่ซึ่งต่างกันไป--จบ--
-อน-