กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--JAP COMMUNICATION & RESEARCH
รัฐบาลเร่งแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) สอดรับกระแสการตื่นตัวมุ่งเป้าปรับกระบวนการพัฒนาเข้าสู่ภาคการเกษตรอย่างครบวงจร หวังเป็นกลไกหลักฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
นายวราวุธ ศิลปอาชา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย ในงานเสวนา IT Update Party ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ IT For common man ว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology: ICT) ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในรูปแบบของการลงทุนด้วยงบประมาณที่จำกัด และจำเป็นต้องดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของแต่ละบุคคล หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการพัฒนาในรูปแบบ " IT for Common Man Individual "
ปัจจุบันทิศทางการตลาดด้านสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และ การสื่อสารทั้งภายในและภายนอกประเทศมีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไทยสามารถนำมาเป็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นดำเนินการพัฒนาและลงทุนที่ควบคู่ไปกับ ธุรกิจหลักในประเทศที่มีอยู่ดั้งเดิม คือการลงทุนใช้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์กับกระบวนการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของคนไทย
ดังนั้นการเข้าสู่ New Economic ว่าด้วยเศรษฐกิจยุคใหม่ ไม่ควรคำนึงเพียงแค่การซื้อขายสินค้าไอที ที่เป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เท่านั้น แต่ควรเป็นการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าไปจัดการทุกด้านที่มีอยู่ เช่น การนำอินเตอร์เน็ตเข้าไปสู่ตำบล เป็นการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างครบวงจร, การดำเนินงานโครงการพัฒนาหน่วยงานกลางที่บริหารระบบงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
"การก้าวสู่ยุคของ ไอที อย่างเต็มรูปแบบของไทย ขณะนี้เรามองว่าจำเป็นต้องลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่ควรลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดการลงทุนที่มากจนเกินไป (Over Investment) แม้ว่าขณะนี้กระแสการตื่นตัวของธุรกิจไอทีจะมีมากขึ้นก็ตาม ซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันพิจารณาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันควบคู่กับการลงทุนที่เหมาะสมด้วย "
อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลและเอกชน ควรร่วมมือกันในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันอย่างเป็นระบบ เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจไอที เป็นธุรกิจที่เอกชนมีการดำเนินธุรกิจไปอย่างก้าวหน้ามาก ขณะที่การดำเนินการของภาครัฐยังติดปัญหาด้วยกฎระเบียบ ขั้นตอนทางราชการ ซึ่งเห็นว่าแนวทางการพัฒนาและลงทุนด้านไอทีในไทย ไม่ควรขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือเฉพาะกระทรวงไอทีที่กำลังก่อตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ควรเป็นการพัฒนาร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
นายวราวุธกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้อง เข้าสู่การปรับกระบวนการทางเทคโนโลยีและสารสนเทศให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขณะเดียวกันทุกฝ่ายจำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะเมื่อเกิดเศรษฐกิจใหม่จะทำให้เกิดช่องว่างทางเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะด้าน ICT ดังนั้นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจไอทีจึงเป็นสิ่งมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่ยุคการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้น หากไทยไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศเข้ามารองรับอย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าไทยต้องเสียเปรียบในเชิงธุรกิจ และ การค้าในตลาดโลกอย่างแน่นอน--จบ--
-อน-