สธ.พัฒนาสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างชั่วคราว

15 Jul 2002

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--สธ.

กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวง เรื่อง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลของลูกจ้างชั่วคราว พ.ศ.2545 เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดปฏิบัติไปแนวทางเดียวกัน

น.พ.วินัย วิริยกิจจา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2545 เรื่อง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างชั่วคราว พ.ศ.2545 ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินบำรุงเพื่อเป็นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยในเรื่องสิทธิของการลานั้น ในการเข้าปีแรกลาป่วยได้ไม่เกิน 8 วันทำการ ลาพักผ่อนปีละไม่เกิน 10 วัน หากปฏิบัติงานไม่ครบ 6 เดือนไม่ได้รับสิทธิในการดังกล่าว แต่ในปีถัดไปลาป่วยได้ไม่เกิน 15 วันทำการ ส่วนการลาป่วยเพราะได้รับอันตรายหรือการเจ็บป่วยเพราะปฏิบัติหน้าที่ให้คณะกรรมการบริหารหน่วยบริการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุญาตแต่ต้องไม่เกิน 365 วัน

สำหรับการลาคลอดบุตรมีสิทธิลาได้ปีหนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างระหว่างลาไม่เกิน 45 วัน และอีก 45 วัน ให้รับจากประกันสังคม แต่ถ้าปฏิบัติงานไม่ครบเดือนจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ส่วนการลาเข้ารับการฝึกวิชาทหารปีละไม่เกิน 2 เดือน ลาเข้ารับการระดมปีละไม่เกิน30 วัน และการลาไปรับการตรวจเลือกเพื่อรับราชการทหารให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าหน่วยงานบริการเป็นผู้กำหนด

นอกจากนี้ลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติราชการหรือการไปฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.2526และแก้ไขเพิ่มเติม โดยเทียบตำแหน่งกับระดับชั้นของข้าราชการพลเรือนหรือลูกจ้างประจำ ทั้งนี้การฝึกอบรมเกินกว่า 3 เดือนให้คณะกรรมการบริหารหน่วยบริการพิจารณาแล้วเสนอขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรณี

ส่วนค่ารักษาพยาบาลในกรณีรักษาพยาบาลปกติให้เบิกจากประกันสังคม หากบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานให้เบิกจากหน่วยงานบริการที่จ้าง โดยสามารถเบิกเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อการบาดเจ็บจากการปฏิบัติราชการ 1 ครั้ง หากเกินกว่าที่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารหน่วยบริการพิจารณาให้จ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนกรณีถึงแก่กรรมในระหว่างจ้างนั้นมีเงินช่วยพิเศษจำนวน 3 เท่าของค่าจ้างในเดือนที่ถึงแก่กรรม แต่หากอยู่ระหว่างขาดราชการไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษ และการขอรับเงินช่วยพิเศษให้ขอภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างชั่วคราวถึงแก่กรรม--จบ--

-ตม-