กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.46) เวลา 11.00 น. ที่ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กทม. พร้อมด้วยนายปรีชา สุขสนเทศ นายวัตตะ ฮุนพงษ์สิมานนท์ และนายประสิทธิ์ ผ่องเภสัช รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกทม. ร่วมกันแถลงข่าว "พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว" ครั้งที่ 77 เรื่องนโยบายการดำเนินงานของ สำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร ในปี 2546
ใช้งบฯ 80 ล้านบาทพัฒนาระบบ MIS ให้ทันสมัย วางรากฐานสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ในปี 2546 นี้สำนักนโยบายและแผนฯจะมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศตามโครงการจัดระบบข้อมูลและข่ายงานคอมพิวเตอร์(MIS) ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ของเดิมที่เสื่อมสภาพให้ทันสมัย รวมทั้งพัฒนาระบบงานใหม่ทั้งหมดให้เป็นแบบ Web base Application เพื่อสอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีความสะดวกในการดูแลบำรุงรักษา และสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อปฏิบัติงานและการบริหารได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มเติมระบบงานให้ครอบคลุมเนื้องานที่ปฏิบัติจริง เช่น ระบบงานบริหารน้ำมัน ระบบงานบริหารคลังวัสดุกลาง ซึ่งระบบใหม่จะเริ่มใช้งานได้ในปี 2546 ได้แก่ ระบบงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ระบบงานรายได้ และระบบงานการเงิน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ทุกระบบ ในปี 2547
ปัจจุบันระบบ MIS ของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมงานบริหารภายในของกทม. ทั้ง 9 ระบบงาน ประกอบด้วย งานรายได้ งานการเงิน งานงบประมาณ งานจัดซื้อ งานจัดจ้าง งานบัญชี งานบัญชีทรัพย์สิน งานบุคลากร และงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยมีการทำงานแบบรวมศูนย์ (Host Based Computing) ซึ่งค่อนข้างล้าสมัยในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เมื่อการพัฒนาระบบใหม่ แล้วเสร็จ ทุกหน่วยงานของกทม.รวมทั้งประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกสบายในการใช้งาน ผู้บริหารจะได้รับข้อมูลที่ ถูกต้อง รวดเร็ว และครบถ้วนประกอบการตัดสินใจ อันจะส่งผลให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ( E-Government) ตามนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้สำนักนโยบายและแผนได้เริ่มดำเนินการศึกษาการกำหนดแนวทางและงบประมาณในการจัดทำระบบสารสนเทศตาม โครงการติดตั้งระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเพื่อใช้กับงานของ 50 สำนักงานเขต และระบบสารสนเทศที่กทม.ต้องพัฒนาตามนโยบายรัฐบาล เช่น การจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) และระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(e-Commerce) อีกด้วย
เพิ่มการบริการทันสมัยด้วย One Stop Service
สำนักนโยบายและแผนฯ ร่วมกับสำนักงานเขตต่างๆ กำลังเตรียมการเพื่อจะเปิดให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มขึ้นอีก 19 สำนักงานเขต ภายในเดือนตุลาคม 2546 นี้ โดยสำนักนโยบายและแผนฯ จะรับผิดชอบด้านระบบคอมพิวเตอร์ และการนำระบบคิวมาใช้ในการให้บริการ ส่วนสำนักงานเขตจะรับผิดชอบด้านการปรับปรุงสถานที่ให้บริการและปฏิบัติงานในการให้บริการ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จไปแล้ว 21 สำนักงานเขต โดยในวันนี้ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จแห่งที่ 21 ที่สำนักงานเขตพระโขนง และจะเปิดให้บริการอีก 18 สำนักงานเขต ได้แก่ สำนักงานเขตจตุจักร สาทร บางคอแหลม บึงกุ่ม ดินแดง ลาดพร้าว หลักสี่ สัมพันธวงศ์ สวนหลวง ลาดกระบัง บางนา ธนบุรี คลองสาน ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางขุนเทียน ภาษีเจริญ และมีนบุรี ซึ่งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่เปิดให้บริการแล้ว ได้รับความพึงพอใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะสามารถใช้บริการต่างๆ อาทิ การชำระเงิน ยื่นแบบประเมินภาษี ทะเบียนราษฎร ทำบัตรประจำตัวประชาชน และยื่นเรื่องอื่นๆ ได้ ณ จุดๆ เดียว โดยให้บริการทันสมัยด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และการนำระบบคิวมาใช้ ทำให้ลดขั้นตอน และสะดวกในการติดต่อขอใช้บริการ ประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพและเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
เก็บฐานข้อมูลภาษีทุกหลังคาเรือนด้วยรหัสประจำบ้าน
สำนักนโยบายและแผนฯ กำลังเร่งรัดจัดทำรหัสบ้าน (House ID) บนแผนที่เชิงมาตราส่วน 1:1,000 ให้ครบทุกหลังคาเรือน และครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ภายในปี 2546 นี้ เพื่อ ใช้เป็นข้อมูลหลักในการจัดทำระบบแผนที่ภาษี เพื่อรองรับการพัฒนาระบบภาษีของกทม. ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลต่างๆของทุกหลังคาเรือนในแต่ละเขตโดยละเอียด ทั้งข้อมูลทะเบียนบ้าน ผู้อาศัยในบ้าน ข้อมูลอาคาร ข้อมูลภาษีโรงเรือนฯ และการชำระภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลแผนที่ดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับระบบงานอื่นได้ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของกทม. การเพิ่มประสิทธิภาพในจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บมูลฝอยและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอย ให้มีความเป็นธรรมและครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดทำรหัสบ้าน (House ID) ดังกล่าว จะเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการงานของกทม. ซึ่งปัจจุบันสำนักนโยบายและแผนฯได้แจกจ่ายแผนที่ดังกล่าวแก่สำนักและสำนักงานเขตไปใช้ปฏิบัติงานแล้ว อย่างไรก็ดี House ID ที่กำลังพัฒนาขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานในหลายด้าน เช่น ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจในการบริหารงาน ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สำนักนโยบายและแผนกทม.ยังได้ดำเนินการจัดทำผังข้อมูลสำนักงานเขตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้ง 50 เขต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและแผน โครงการ ในการพัฒนาพื้นที่เขตในด้านต่างๆ ได้ โดยการพัฒนาโปรแกรมที่มีอยู่แล้วเป็นแบบแผนสำนักงานเขต ( District Plan) เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต อีกทั้งเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารและพัฒนาเขตไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
สถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกับเมืองต่าง ๆ
การดำเนินงานตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกับเมืองต่างๆทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกับเมืองต่าง ๆ แล้ว 8 เมือง คือ กรุงวอชิงตันดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงมอสโก และนครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐ รัสเซีย กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย และกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ อาทิ โครงการจัดตั้งองค์การสภามหานครอาเซียน (ASEAN City Council Organization) หรือ ACCO เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านนิติบัญญัติระดับท้องถิ่นระหว่างสภากรุงเทพมหานครและสภามหานครของประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ เพื่อให้ ACCO เป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือ และยกระดับความเป็นสภาสากลในภูมิภาค และโครงการสภาบ้านพี่เมืองน้อง (Sister City Council Relations) ซึ่งปัจจุบันสภากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการด้านการแลกเปลี่ยนคณะศึกษาดูงานระหว่างกัน ทั้งด้านการศึกษา (สอนภาษาจีน - ไทย) ด้านการกีฬา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จะดำเนินการในอนาคต คือ การแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการเมือง และสินค้าพื้นเมือง "หนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล" ในเมืองต่างๆ
กำหนดกลยุทธ์ "พัฒนาทรัพยากรมนุษย์" ลงในแผนพัฒนา กทม. ฉบับที่ 6
กรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 6 เน้นการพัฒนาคน ครอบครัว ชุมชน สังคม ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ และประชาชนมีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ ให้การศึกษา แก้ไขปัญหายาเสพติด และดูแลสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการที่จะดำเนินการต่อไปตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ได้แก่ การจัดระเบียบให้เป็นไปตามผังเมืองรวมของกรุงเทพฯ, การจัดหาพื้นที่สีเขียวและปลูกต้นไม้ใหญ่ให้มากขึ้น, การจัดสร้างโรงพยาบาลและศูนย์สาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้เพียงพอ , การจัดทำโครงการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส, การจัดโครงการส่งเสริมการออกกำลังกาย จัดตั้งศูนย์สุขภาพ และการจัดกิจกรรมวันครอบครัวในสวนสาธารณะ
นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการแผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เพื่อให้มีเจ้าภาพสำหรับดำเนินการด้านการ ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ โดยจะมีการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศูนย์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว กทม. ผู้จัดทัวร์ สมาคมรถทัวร์ รถแท๊กซี่ สามล้อ และสื่อมวลชน เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น
ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนากรุงเทพมหานครจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ได้นั้นต้องผลักดันแผนพัฒนากทม. ให้เป็นตัวชี้นำการบริหารงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทางสำนักนโยบายและแผนจะเน้นการปฏิบัติเชิงรุก โดยให้เจ้าหน้าที่ของสำนักฯ สอบถามแต่ละสำนักและสำนักงานเขตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อประโยชน์ในการพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป และจะมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือในการทำงาน รวมทั้งจะมีการส่งเสริมด้านการต่างประเทศระหว่างสภากรุงเทพมหานครและผู้บริหารกรุงเทพมหานครให้สู่สากลต่อไป--จบ--
-นห-