ญี่ปุ่นพอใจนโยบายการลงทุนของไทย บีโอไอมั่นใจไทยเป็นดาวเด่นด้านยานยนต์

25 Oct 2002

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--บีโอไอ

นักลงทุนญี่ปุ่นพอใจนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย ที่มุ่งเน้นขจัดปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุน เลขาธิการบีโอไอมั่นใจ บริษัทยักษ์ใหญ่ยานยนต์ญี่ปุ่นเตรียมเข้ามาลงทุนในไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกทั่วโลก

นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า หลังการร่วมปาฐกถาในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ ประจำประเทศไทยว่า แนวโน้มการลงทุนของโลกในปัจจุบันจะลดลง แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นแหล่งที่น่าลงทุนอย่างมากในสายตาของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งต่างก็มีความพึงพอใจในนโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก การขจัดและแก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนและเป็นนโยบายที่มีเสถียรภาพ ยุติธรรม และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

นายสมพงษ์กล่าวด้วยว่า การสัมมนาในครั้งนี้ มีนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยให้ความสนใจเข้าร่วมถึง 350 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย และจากการที่ได้พบปะพูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่น ทำให้มั่นใจว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ การลงทุนในญี่ปุ่นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์จะเข้ามาสู่ไทยมากยิ่งขึ้น ทั้งการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ และการลงทุนจากกิจการเอสเอ็มอี ซึ่งต่อไปประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์เพื่อการส่งออกไปทั่วทุกมุมโลก

"นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นตัดสินใจขยายการผลิตและลงทุนใหม่ในไทย เพราะนโยบายของไทยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้น ไม่บังคับให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่กำหนดว่าจะต้องเป็นกิจการเพื่อส่งออก ตลอดจนเป็นนโยบายมุ่งส่งเสริมการลงทุนแบบเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิต" เลขาธิการบีโอไอกล่าว

นอกจากนี้ การยกเลิกเงื่อนไขข้อกำหนดเรื่องเขตที่ตั้งของโครงการลงทุน ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นการขจัดอุปสรรคในการลงทุน อันจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยจากเดิมที่กิจการหลายประเภทถูกจำกัดให้สามารถลงทุนได้เฉพาะบางเขต ก็มีความยืดหยุ่นสามารถลงทุนได้ทุกเขตที่ตั้ง ขึ้นอยู่กับนักลงทุนจะตัดสินใจว่าโครงการมีความเหมาะสมจะตั้งอยู่ที่ใด ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามเขตที่ตั้งยังคงเหมือนเดิม

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้ในระยะหลังจะมีคลื่นนักลงทุนไหลเข้าสู่ประเทศจีนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจีนมีค่าแรงถูกและมีตลาดขนาดใหญ่ แต่ยังคงมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่ยังคงลงทุนในประเทศไทยต่อไปเพื่อกระจายความเสี่ยง และเนื่องจากแรงงานไทยมีคุณภาพ

ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2545 การลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นในไทยมีจำนวน 195 โครงการ มูลค่าสูงถึง 57,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท ถึง 42% โดยมีโครงการผลิตและประกอบรถยนต์ของบริษัทค่ายรถยนต์รายใหญ่ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท --จบ--

-ออ/สส-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit