กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--Twentieth Century Fox
การรับโทรศัพท์อาจเปลี่ยนชีวิตคุณ แต่สำหรับชายคนหนึ่ง มันอาจจบชีวิตเขาลงได้ด้วยซ้ำ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในตู้โทรศัพท์สาธารณะแห่งหนึ่ง ในนิวยอร์ค ซิตี้ ใน PHONE BOOTH กับสตู เชฟเฟิร์ด (โคลิน ฟาร์เรล) ที่ปรึกษาสื่อโฆษณาให้เช่าราคาย่อมเยาว์ ซึ่งต้องติดกับดัก เมื่อได้รับการข่มขู่ทางโทรศัพท์ - จากฆาตกรต่อเนื่องซึ่งมีปืนลอบยิงไรเฟิล - ว่าเขาจะถูกยิงตายหากเขาวางหู
ถ้าเป็นคุณ จะทำอย่างไรเมื่อเดินผ่านโทรศัพท์สาธารณะที่กำลังดังอยู่? ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าต้องต่อมาผิด แต่ด้วยสัญชาติญานเขาจำต้องยกหูขึ้น แน่ละเมื่อโทรศัพท์ดัง ก็ย่อมต้องมีคนรับ แต่เมื่อสตู เชฟเฟิร์ด รับสายขึ้นมาเขากลับพบว่า ตนเองตกอยู่ในเกมอันลดเลี้ยว ถ้าวางหูก็ตายสถานเดียว นั่นคือสิ่งที่ผู้โทร.เข้ามา (ไคเฟอร์ ซุทเธอร์แลนด์) บอกกับเขา
การกระทำอุกอาจเขย่าขวัญ ดึงดูดเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังสนับสนุน แม่นปืนมายังสถานที่เกิดเหตุ พวกเขาพากันคิดว่าสตูเป็นบุคคลอันตรายพร้อมอาวุธปืน แต่หารู้ไม่ถึงเจ้าของเสียงปลายสายที่มองไม่เห็นตัว
เจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้กองเรมี่ (ฟอเรสท์ วิทเทคเกอร์) พยายามเกลี้ยกล่อม ให้สตูออกมาจากตู้โทรศัพท์ แต่สิ่งที่เรมี่และกองกำลังของเขาไม่รู้ก็คือ บรรดานักข่าวช่างภาพที่ได้พากันมากลุ้มรุมอยู่รอบสถานที่ - ร่วมด้วยเคลลี่ ภรรยาของสตู อีกทั้งพาเมล่า ลูกค้าและว่าที่แฟนสาวของเขา - ซึ่งฆาตกรเห็นพวกเขาทั้งหมดได้จากกล้องส่องแรงสูงจากปืนไรเฟิลของเขา
ขณะที่ยามบ่ายคล้อยเคลื่อนเข้าสู่สนธยา สตู ตกอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์อันขัดต่อหลักจริยธรรม และจำต้องเผชิญกับเรื่องฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ เขาถูกกดดันทางอารมณ์โดยปลายสาย ซึ่งคำโกหก ครึ่งจริงครึ่งเท็จ และวิธีการอื่นใดของสตู ไม่สำคัญอีกต่อไป สิ่งที่เขาต้องทำคือ ขุดลึกลงไปในจิตวิญญานของตนเอง เพื่อให้พบกับพลังที่เพียงพอจะต่อสู้กับอีกฝ่าย อันเป็นการก้าวล้ำเข้าไปสู่อันตรายที่มากขึ้นกว่าเดิม
ฟอกซ์ 2000 พิคเจอร์ส เสนอ ผลงานของ ซุคเกอร์/เนตเตอร์ โปรดักชั่น จาก โจเอล ชูมัคเกอร์ ฟิล์ม นำแสดงโดยโคลิน ฟาร์เรล ใน PHONE BOOTH ร่วมด้วย แคที่ โฮล์มส , เรต้า มิทเชล และไคเฟอร์ ซุทเธอร์แลนด์ จากการกำกับการแสดงของ โจเอล ชูมัคเกอร์ บทภาพยนต์โดย แลรี่ โคเฮน และอำนวยการสร้างโดย กิล เนตเตอร์ และเดวิด ซุคเกอร์ กำกับภาพโดย แมทธิว ลิบาทิค ลำดับภาพโดย มาร์ค สตีเวนส์ ออกแบบฝ่ายศิลป์ โดย แอนดรู ลอส์ ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย แดเนียล ออลานดิ ประพันธ์เพลงประกอบโดย แฮรี่ เกรกสัน-วิลเลียมส์ "ผมพยายามคิดถึงวิธีการถ่ายหนังสักเรื่องจากตู้โทรศัพท์มายี่สิบปีแล้ว" แลรี่ โคเฮน กล่าว เขาเป็นผู้กำกับหนังไร้สังกัดสมัยใหม่ชื่อดัง รวมทั้งยังเป็นผู้เขียนบทภาพยนต์ที่ประสบความสำเร็จ "มันเป็นที่ไม่ธรรมดาที่จะติดกับดัก ในใจกลางเมืองที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนนับพัน ผมจินตนาการถึงฉากที่เราไม่สามารถออกมาจากตู้โทรศัพท์ได้ เหมือนเป็นโลงศพแก้ว ทุกคนมองเห็นเราได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่ากำลังถูกคุกคามอยู่ในตู้นั้น เป็นกับดักที่สมบูรณ์แบบ"ระหว่างงานกำกับและเขียนบทเรื่องอื่นๆ โคเฮนยังวนเวียนอยู่กับความคิดนั้น จนในที่สุดก็ขบปัญหาออกเมื่อสามปีที่แล้ว "จู่ๆ ผมก็ได้คำตอบ" โคเฮนท้าวความ "ผมคิดได้ว่าจะส่องปืนออกไปทางหน้าต่าง จับตัวเหยื่อใส่ตู้โทรศัพท์ เอาตัวภรรยา และเพื่อนสาวของเขามาด้วย กระทำฆาตกรรม พ่วงตำรวจเข้าไปอีก ไอเดียพวกนี้ผุดขึ้นมา แล้วผมก็จบด้วยการเริ่มเขียนบท ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดไม่ถึงอาทิตย์ด้วยซ้ำ"
หลังจากที่ ฟอกซ์ 2000 พิคเจอร์ส ได้รับลิขสิทธิ์ในบทภาพยนต์ของโคเฮน ผู้สร้างหลายรายพยายามที่จะขอโอกาสกะเทาะเปลือกเรื่องราวแบบนวนิยายนี้ ฟอกซ์ ได้ทาบทามโจเอล ชูมัคเกอร์ ผู้ซึ่งยังติดพันกับงานที่ยังไม่เสร็จสิ้นเรื่อง "Tigerland" อยู่ ผู้สร้างดังๆ อาทิเช่น เมล กิ๊บสัน พี่น้องฮิวจ์ ไมเคิล เบย์ วิล สมิธ และจิม แครี่ ได้แสดงความสนใจโปรเจ็กนี้ แต่ในที่สุดเมื่อชูมัคเกอร์ว่างพอที่จะจับงานนี้ได้ เขาจึงได้ร่วมงานกับทางสตูดิโออย่างเต็มใจ "PHONE BOOTH เป็นเรื่องราวที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร" เขากล่าว "ผมสนใจเป็นอันมากในการค้นคว้าเกี่ยวกับความกลัวพื้นฐาน - ถึงการถูกคนจับตามองอยู่ - เป็นการสูญเสียความเป็นส่วนตัวในโลกปัจจุบัน ตอนที่น่ากลัวที่สุดของเรื่องก็คือ มันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เป็นเรื่องราวเข้มข้นของการก่อกวนคนเมือง"
"โจเอลเป็นสุดยอดผู้กำกับสำหรับเรื่องนี้" โคเฮนกล่าว "เขาตาแหลมเรื่องมุมกล้อง และยังทางด้านออกแบบ และเป็นผู้กำกับของดารา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะเหตุที่ บทของสตูนั้นเป็นเรื่องท้าทายความสามารถทางการแสดง ไม่ว่าจะเป็นดาราคนใดก็ตาม เพราะเขาต้องสามารถดึงความสนใจของคนดูและต้องแสดงทั้งเรื่อง"
ชูมัคเกอร์ เป็นผู้เลือกเฟ้นให้ โคลิน ฟาร์เรล รับบทสตู เชฟเฟิร์ด เจ้าหน้าที่สื่อโฆษณาเช่า ผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะตู้ที่ยังทำงานได้ในนิวยอร์ค ซิตี้ PHONE BOOTH นับเป็นการทำงานร่วมกันครั้งที่สองของทั้งคู่ จากผลงานของชูมัคเกอร์ ในหนังดราม่าสมัยสงครามเวียดนาม เรื่อง "Tigerland" ซึ่งส่งฟาร์เรลให้เป็นดาราที่รู้จักไปทั่วโลก "ใน 'Tigerland' โคลินรับบทฮีโร่ผู้ไม่เต็มใจ" ชูมัคเกอร์ชี้แจง "ใน PHONE BOOTH เขากลับเป็นเหยื่อที่ไม่เต็มใจ"
"โคลิน เป็นไอริช ที่ทำได้ทุกอย่าง รวมทั้งการพูดสำเนียงต่างๆ - สำเนียงใต้ใน 'Tigerland', อเมริกันแท้อย่างใน 'Minority Report' และสำเนียงบริงซ์ในบทสตู - ชูมัคเกอร์เสริม "และใน PHONE BOOTH เป็นเรื่องที่เขาต้องใช้พลังทั้งหมด; เพราะเขาอยู่ในทุกวินาทีของหนัง
"ฟาร์เรลยินดีมากที่ได้ร่วมงานกับชูมัคเกอร์อีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็หมกมุ่นกับสคริปท์และบทบาทที่ได้รับ "เรื่องราวไม่หยุดนิ่ง เรียกว่าพลิกหน้าแทบไม่ทัน" นักแสดงกล่าว "แต่เป็นสิ่งที่มากกว่าเรื่องระทึกขวัญ เหมือนการค้นคว้าตัวละครที่ซับซ้อนซึ่งตกอยู่ระหว่างความเป็นความตาย ในขณะเดียวกับที่ทดสอบความอดทนอย่างน่ากลัว"
สตูนั้นเป็นชายหนุ่มที่เหนือชั้นทุกเรื่อง - หรือไม่เขาก็คิดว่าอย่างนั้น อายุราว 20 ปลายๆ ทำผม ทำเล็บอย่างดี สวมเสื้อผ้าราคาแพง และมีพรสวรรค์ทางการพูดหว่านล้อม พูดโทรศัพท์มือถือสองเครื่องสลับกันไป ขณะเดินอย่างมั่นใจบนถนนบรอดเวย์ ส่วนผู้ช่วยโชคไม่ดีของเขาก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะตามให้ทัน สตูเล่าถึงบทบาทของเขาว่า "เขามีความสามารถสูงในการชักจูงคนอื่น" ฟาร์เรลกล่าว "แต่ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอก เขามีความรู้เพียงผิวเผิน เขาพูดปดได้ตลอดเวลา โดยไม่สนว่าจะมีผลยังไงกับชีวิตคนอื่น และเขาก็เคยชินกับมัน เขามองไม่เห็นความจริงอีกต่อไป""สตูให้ความสำคัญมากเกินไปกับเรื่องที่มีคุณค่าเพียงน้อยนิด" ฟาร์เรลกล่าวต่อ " เขามีแต่ตัวเองและไม่รับรู้เรื่องอื่นใด ใช้ชีวิตอย่างที่ตนชอบ เขาคิดว่าโลกหมุนรอบตัวเขา"
แต่แล้ววันที่ฟ้าลิขิตก็มาถึง เมื่อสตูยกหูโทรศัพท์สาธารณะโดยสัญชาติญาน ท่าทีของเขากำลังจะถูกทำให้เปลี่ยนไป โดยผู้โทร.เข้ามา ที่ดูเหมือนจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับเขา และพร้อมที่จะพิพากษาให้กับความผิดหลายกระทงของเขา ประโยคแรกที่ผู้โทร.มากล่าวกับสตูก็คือ - "ตลกดีนะ - นายได้ยินเสียงกริ่งโทรศัพท์ อาจเป็นใครโทร.มาก็ได้ แต่ยังไงก็ต้องมีคนรับโทรศัพท์ ใช่มั้ยล่ะ?" - ทำให้ชีวิตของสตูถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย และยังถูกบังคับให้สำรวจชีวิตตนเองและความสำคัญของเรื่องต่างๆ
สำหรับบทผู้โทร.มานั้น ชูมัคเกอร์เลือกไคเฟอร์ ซุทเธอร์แลนด์ ผู้ซึ่งเขาเคยร่วมงานมาด้วยแล้วสามครั้งก่อนหน้านี้ (จาก "Lost Boys," "Flatliners" และ "A Time to Kill") "ไคเฟอร์เป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยม เขามีน้ำเสียงที่สะกดผู้ฟังให้เอนเอียงได้ อย่างที่ควรจะเป็นเสียงของผู้โทร.เข้ามา" ชูมัคเกอร์กล่าว
ชูมัคเกอร์ให้คำจำกัดความของตัวละครนี้ว่าเป็น "ผู้ดัดนิสัย" ซึ่งให้คำพิพากษาแก่หนุ่มกรุงด้วยความช่วยเหลือจากปืนไรเฟิลทรงพลัง "เขามองว่าตนเองไม่มีใครเอาชนะได้" ชูมัคเกอร์อธิบาย "เขาตัดสินแล้วว่าเขามีสิทธิ์ที่จะบอกว่าใครเป็นคนดีมีศีลธรรม และใครที่ไม่ใช่ เขาเป็นคนกำหนดการลงโทษ บุคคลนี้เป็นนักสังเกตุการณ์ จอมจุ้น และเป็นคนฉลาดมากๆ ที่มีอารมณ์ขันร้ายกาจ รวมทั้งยังเป็นซาดิสม์อีกด้วย"
ในความรู้สึกของสตู คนๆนี้เป็นมากกว่าความน่าสพึงกลัว "เขามีแผนการณ์ และเขาเลือกสตูเนื่องมาจากหลายเหตุผลด้วยกัน" ชูมัคเกอร์เล่า ซึ่งโคลิน ฟาร์เรลเสริมว่า: "สตูเป็นหุ่นเชิด และผู้โทร.มาเป็นผู้เชิดหุ่น เขาเป็นคนชักใย เขากะเทาะสตูจนหมดสิ้น ด้วยเหตุผลที่สตูไม่เข้าใจตั้งแต่แรก"
สตูและเส้นทางของเขาเป็นวังวนของเรื่อง แต่ PHONE BOOTH ยังมีสิ่งอื่นประกอบ ตัวละครอีกหลายสิบ ทั้งตัวหลักและที่อยู่เบื้องหลัง คือสิ่งที่เติมเต็ม และแอ็คชั่นที่อยู่รายรอบโลกของสตูในตู้โทรศัพท์ขณะนั้น ชูมัคเกอร์เติมภาพด้วย บรรดาตำรวจ คนมุง นักวิจารณ์ รถราที่ขวักไขว่ และเสียงนานาที่จะแสดงถึงความเป็นเมืองใหญ่
คนสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงสำหรับเความโชคร้ายของสตู คือ ผู้กองเรมี่ นายตำรวจทรหดแต่เปี่ยมความสงสาร ผู้ซึ่งรับผิดชอบสถานการณ์อย่างเต็มที่ และการกระทำนั้นก็แสดงถึงปูมหลังของเขา รวมทั้งพาเมล่า แมคแฟดเดน ดาราสาวไร้เดียงสาและมีความทะเยอทะยาน ผู้ซึ่งสตูอยากขึ้นเตียงด้วย และเคลลี่ ภรรยาแสนซื่อสัตย์ของสตูผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับเหตุการณ์ที่ทำให้สามีของเธอ ต้องติดอยู่ในตู้โทรศัพท์
เหล่านักแสดงที่ได้รับบททั้งหมดต่างเป็นส่วนดึงดูดของเรื่องราวดราม่าที่แปลกใหม่ "เรื่องราวเข้มข้นมาก" เคท โฮมส์ กล่าว เธอรับบทพาเมล่า "ฉันชอบองค์ประกอบทางจิตวิทยา และอารมณ์ขันที่บิดเบือน ราวกับว่าเราสะใจที่ได้เห็นชีวิตของสตูพังทลาย" ราด้า มิทเชลเสริมว่า "ฉันชอบความจริงที่ว่า เมื่อผู้โทร.มาได้เปลี่ยนชีวิตสตู เขาก็ได้เปลี่ยนชีวิตเธอด้วย เธอตกอยู่ท่ามกลางวิกฤติ - แต่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมหรืออย่างไร"
ฟอเรสท์ วิทเทคเกอร์ ผู้รับบทผู้กองเรมี่ ชี้ให้เห็นว่านอกเหนือจาก อารมณ์ขันและแอ็คชั่น เรื่องราวซึ่งมีอยู่อย่างกว้างขวาง ยังเป็นองค์ประกอบหลักของหนังอีกด้วย "สิ่งที่สตูสำนึกได้ในหนังเรื่องนี้ คือสิ่งที่เราทุกคน เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต จะเข้าใจว่าทำไมบางครั้งเราจึงต้องมองกระจก เพื่อหาเงาสะท้อนของชีวิตตัวเอง"
PHONE BOOTH เปิดฉากในนิวยอร์ค ซิตี้ แอ็คชั่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัวละคร และสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นของเมืองบิ๊กแอปเปิลโดยแท้ "นับว่าเป็นเรื่องราวของนิวยอร์คจริงๆ" แลรี่ โคเฮนกล่าว เขาเป็นชาวเมืองก็อตแธม "ผมจัดฉากให้อยู่ในแมนฮัตตัน เพราะมันเป็นเมืองที่มีกิจกรรมมากมาย ผมอยากให้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคนเดินทั่วไป และยิ่งจอแจมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เหมือนต้องการความช่วยเหลือจากแค่เพียงกระจกกั้น - แต่ความช่วยเหลือนั้นไม่เคยมาถึง"
ชูมัคเกอร์และทีมงานส่วนน้อยถ่ายทำโคลิน ฟาร์เรลเพียงหนึ่งวัน ในใจกลางไทม์สแควร์ ส่วนที่ซับซ้อนกว่าซึ่งเป็นการเดินเรื่องทั้งหมดของ PHONE BOOTH ได้ถูกถ่ายทำที่แถบดาวน์ทาวน์ประวัติศาสตร์ ของลอสแอนเจลิส งานสถาปัตยกรรมซึ่งคล้ายคลึงกับอาคารในแมนฮัตตัน แต่ชูมัคเกอร์มอบความไว้วางใจทั้งหมดให้กับผู้กำกับภาพผู้สามารถอย่าง แมทธิว ลิบาทิค และผู้ออกแบบฝ่ายศิลป์ แอนดรู ลอส์ ในการปรับเปลี่ยนถนนของแอลเอ ให้กลายเป็นถนนสายที่ 53 ของแมนฮัตตัน ลิบาทิคและลอส์เคยร่วมงานกันมาครั้งหนึ่งแล้วในการทำงานให้ออกมาแนวสารคดีของ "Tigerland"สำหรับ PHONE BOOTH ลิบาทิคสร้างแสงเงาที่สมดุลย์และตึกรามที่ปิดด้วยม่าน เพื่อทำให้เกิดแสงที่กลมกลืนกับการถ่ายทำฉากหนึ่งวันในนิวยอร์ค เขาขยายความว่า ในนิวยอร์ค มีแสงมากมายที่สะท้อนจากยอดตึก ดังนั้นจึงให้ความรู้สึกว่าถนนจะมืดครึ้ม เราจึงต้องสร้างมันขึ้นในลอสแอนเจลิสซึ่งมีเส้นขอบฟ้าที่เล็กกว่า"
ผู้ออกแบบฝ่ายศิลป์ ลอส์ ได้ทำงานสร้างสรรค์ภาพและความรู้สึกที่ไม่เหมือนที่อื่นของไทม์สแควร์ "เราต้องการสภาพแวดล้อมที่เต็มเปี่ยม และเป็นภาพคุ้นตาของคนดู" เขาอธิบายต่อว่า "ทุกที่เมื่อมองไปจะเห็นสิ่งสะดุดตา สิ่งที่จำได้และเป็นส่วนหนึ่งของนิวยอร์ค" สีที่จัดจ้านซึ่งเติมแต่งความเป็นนิวยอร์ค รวมทั้งบิลบอร์ด ป้ายโฆษณาใหญ่ยักษ์ และป้ายอื่นๆที่นำมาใส่ไว้ในการถ่ายทำ
เพื่อให้จับภาพแอ็คชั่นไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ชูมัคเกอร์ใช้วิธีการ ที่เรียกว่า "กล้องบัลเล่ต์" ด้วยการถ่ายทำโดยกล้อง 35 mm ถึง 4 ตัวพร้อมๆกัน การทำเช่นนี้ทำให้เขามีทางเลือก และสามารถตัดต่อได้อย่างที่ไม่สามารถหากใช้กล้องเพียงตัวเดียว กล้องตัวหนึ่งอาจจับที่ฟาร์เรล อีกหนึ่งที่วิทเทคเกอร์ และตัวที่สามกับสี่ที่มิทเชล และโฮมส์ด้วยเหตุนี้ชูมัคเกอร์จึงให้นักแสดงทุกคนใส่หูฟัง เพื่อคอยฟังคิวของตนเอง "ทุกคนแสดงในเวลาเดียวกัน" เขากล่าว
เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นมาตรฐานของภาพจากทั้งสี่กล้อง ลิบาทิคต้องจัดไฟให้เต็มที่อย่างยิ่ง "การถ่ายทำด้วยกล้องเคลื่อนที่หนึ่งหรือสองตัวพร้อมกันเป็นเรื่องยาก" ชูมัคเกอร์กล่าว "สามหรือสี่ตัวยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ แต่แม็ตตี้สามารถทำได้ เป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการรักษาคุณภาพของแสง เวลาที่ใช้หลายกล้องในเวลาเดียวกัน" ลิบาทิคยังใช้มุมกล้องและมุมมองที่แตกต่าง เพื่อสร้างความกดดันให้กับหนัง"
ภาพจากกล้องเคลื่อนที่หลายตัวนั้น สร้างภาพถนนของเมืองนิวยอร์ค ซิตี้ในอีกด้านหนึ่งของประเทศ ตารางการทำงานประจำวันของทีมงานและนักแสดง สำหรับชูมัคเกอร์คือ การถ่ายทำวันละสิบหน้าหรือกว่านั้น สำหรับเรื่อง PHONE BOOTH ในช่วงที่เขาดูแลความเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้ายให้กับหนังที่นับว่าเป็นความท้าทายที่สุด สำหรับเขาอีกเรื่องหนึ่งนั้น ชูมัคเกอร์ให้ความเห็นว่า "ผมคิดว่า PHONE BOOTH เป็นหนังที่ให้ความบันเทิงอย่างแท้จริง หนังในสเกลใหญ่และมีจุดมุ่งหมาย ผมคิดว่าคนดูจะได้รับประสพการณ์เดียวกับการนั่งรถไฟเหาะ" และแลร์รี่ โคเฮน ผู้เขียนบทภาพยนต์ได้เสริมว่า "เป็นหนังอีกเรื่องที่คนดูไม่สามารถลุกขึ้นไปซื้อป็อบคอร์นกับเครื่องดื่มระหว่างหนังฉายได้ โจเอลทำให้เรารู้สึกเหมือนติดกับไปพร้อมกับโคลิน อยู่ด้วยกันกับเขาตลอดเรื่อง มีหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่ทำให้รู้สึกได้แบบนี้"(ยังมีต่อ)
-ศน-
ทำเอาสยองขนหัวลุกตั้งแต่ที่ปล่อยตัวอย่างแรก สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Kumanthong ในชื่อภาษาไทยว่า กุมารทอง ราคะ-เฮี้ยน ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงอันน่าสะพรึงที่เกิดขึ้น ของฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของเวียดนาม ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ทำเงินเปิดตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์หนังเวียดนาม ด้วยยอดรายได้เข้าฉายวันแรกสูงถึง 6.8 พันล้านดอง พร้อมกันนี้ยังได้ปล่อยใบปิดไทยออกมาให้สะพรึงพร้อมกันอีกด้วย กุมารทอง ราคะ-เฮี้ยน เล่าเรื่องราวของ ซอย (หว่าง เอี๊ยน จีบี) สาวใบ้หูหนวก ที่ใช้ชีวิตอย่างสงบในหมู่บ้านใจกลางดินดอนสาม
Movieplus นำเสนอ ภาพยนตร์ ซีรีส์ ชื่อดัง ออกอากาศทางช่อง NBC ชื่อตัวละครสุดคลาสสิคที่มีแฟนคลับมากที่สุดในโลก ใน Hannibal ซีซั่น 1 และ 2 นำแสดงโดย แมดส์ มิคเคลสัน จากผลงานแสดงนำเรื่อง James Bond 007 : Casino Royale(2006), King Arthur และ ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น...