ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารไทยขนาดใหญ่เป็นอันดับระดับเพื่อการลงทุน

17 Oct 2002

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ฟิทช์ บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ ได้ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตระดับสากล (international ratings) ระยะยาวของธนาคารขนาดใหญ่สี่แห่ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นอันดับระดับเพื่อการลงทุน (investment grade) ที่ 'BBB-' แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากระดับ 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเอเชีย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นบวกจากเดิมที่เป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพ โดยคงอันดับเครดิตระดับสากลระยะยาวของธนาคารทั้งสองที่ 'BBB-' ซึ่งเป็นอันดับเครดิตอันดับเดียวกับอันดับเครดิตของประเทศไทย

การเพิ่มอันดับเครดิตครั้งนี้ ฟิทช์ได้พิจารณาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและระบบสถาบันการเงินนั้นน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ธนาคารขนาดใหญ่ทั้งสี่แห่งนี้นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดทั้งเงินกู้และเงินฝากอยู่ที่ประมาณ 70% ของฐานเงินกู้และเงินฝากทั้งระบบ และฟิทช์ยังเชื่ออีกว่า หากมีการเสนอให้มีการยกเลิกการประกันเงินฝากของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาสถาบันการเงินในปี 2547 การสนับสนุนจากรัฐบาลต่อเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นก็ยังน่าจะคงอยู่ต่อไป

การเพิ่มอันดับเครดิตครั้งนี้ เป็นการเพิ่มตามการปรับอันดับเครดิตของประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 'BBB-' แนวโน้มเป็นบวก ระดับหนี้ต่างประเทศของประเทศไทยได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ฟิทช์ให้อันดับเครดิตระยะยาวกับธนาคารหลักของไทยครั้งแรกที่ระดับ 'BB+' ในเดือน กรกฎาคม ปี 2542 ระดับหนี้ต่างประเทศสุทธิของประเทศไทยนั้นคาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ 11% ของรายรับจากต่างประเทศ ภายในสิ้นปี 2545 เทียบกับ 89% ณ สิ้นปี 2541 ในขณะที่ อัตราส่วนสภาพคล่องของประเทศไทยนั้นคาดว่าจะเพิ่มเป็น 200% ภายในสิ้นปี 2545 เทียบกับ 68% ณ สิ้นปี 2541 ด้วยสถานะทางการเงินของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ ความสามารถของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการชำระเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศของธนาคารหลักหากมีความจำเป็น ได้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งก็ส่งผลทำให้มีการปรับอันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารไทยในครั้งนี้ การปรับอันดับเครดิตระดับสากลของธนาคารหลักขึ้นไปที่ระดับเพื่อการลงทุนในครั้งนี้ เป็นการปรับระดับครั้งสำคัญตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงย้ำว่าสถานะทางการเงินของธนาคารไทยยังคงไม่แข็งแกร่งนัก และมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในทางลบของสภาพเศรษฐกิจ ฟิทช์คาดว่าความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารจะดีขึ้นในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า

อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารเอเชียนั้นถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย ในขณะที่อันดับเครดิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทยนั้นเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย ดังนั้น แนวโน้มอันดับเครดิตของทั้งสองธนาคารจึงเป็นบวก

ธนาคารที่ได้รับผลจากการประกาศอันดับเครดิตครั้งนี้

ธนาคารกรุงเทพ อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BBB-' แนวโน้มมีเสถียรภาพ เพิ่มจากอันดับ 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ'D/E' อันดับเครดิตสนับสนุน '2'

ธนาคารกรุงไทย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BBB-' แนวโน้มมีเสถียรภาพ เพิ่มจากอันดับ 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ'D/E' อันดับเครดิตสนับสนุน '2'

ธนาคารกสิกรไทย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BBB-' แนวโน้มมีเสถียรภาพ เพิ่มจากอันดับ 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ'D' อันดับเครดิตสนับสนุน '2' อันดับเครดิตภายในประเทศ ระยะยาว 'AA-(tha)' ระยะสั้น 'F1+(tha)'

ธนาคารไทยพาณิชย์ อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BBB-' แนวโน้มมีเสถียรภาพ เพิ่มจากอันดับ 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ'D/E' อันดับเครดิตสนับสนุน '2'

ธนาคารเอเชีย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BBB-' แนวโน้มเป็นบวก ปรับจากแนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน 'D' อันดับเครดิตสนับสนุน '3' อันดับเครดิตภายในประเทศ ระยะยาว 'AA+(tha)' หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 'AA(tha)' ระยะสั้น 'F1+(tha)'

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BBB-' แนวโน้มเป็นบวก ปรับจากแนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสนับสนุน '2' อันดับเครดิตภายในประเทศ ระยะยาว 'AA+(tha)'ระยะสั้น 'F1+(tha)'

ติดต่อ

ดุษฎี ศรีชีวะชาติ; Vincent Milton, กรุงเทพฯ

+662 655 4762/4759

David Marshall, ฮ่องกง

+852 2973 6293

หมายเหตุ : อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับความเข้มแข็งทางการเงินสำหรับธนาคาร (Support and Individual Ratings for Banks)อันดับความเข้มแข็งทางการเงินวิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารโดยไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหรือจากรัฐบาล ถ้าธนาคารตกอยู่ในสถานการณ์เงินที่อ่อนแอ อันดับเครดิตเหล่านี้ ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้ของธนาคารแต่เป็นอันดับความแข็งแกร่งของสถานะการเงินภายในของธนาคารและอันดับความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้ หรือ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหรือจากรัฐบาล

การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุนหรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

การเปิดเผยข้อมูล : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 68.5% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด--จบ--

-ศน-