กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--เจ เอส แอล
เนื่องในวันปิยะมหาราช 23 ตุลาคม เจาะใจตอนพิเศษ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลวางรากฐานสำคัญด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ ด้วยการนำแขกรับเชิญสามคน อมิตา ทาทายัง โน้ต เชิญยิ้ม และ ซูโม่ตู้-จรัสพงษ์ สุรัสวดี ที่ล้วนผ่านประสบการณ์การเรียนในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมาคุยถึงความสำคัญด้านการศึกษา
อมิตา ทาทายัง เคยเรียนในโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องทำงานไปด้วยขณะกำลังโด่งดังอย่างถึงขีดสุด ทำให้เธอตัดสินใจออกจากโรงเรียนใช้วิธีการเรียนด้วยตนเอง (Independent Study) ทาทายังเล่าว่า "ตอนนั้นทาทาคิดว่าโอกาสในการเป็นนักร้องเข้ามาในชีวิตได้ไม่ง่ายนักอาจจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่โอกาสในการเรียนนั้นถ้าเรามีความตั้งใจจริงจะเรียนเมื่อไรก็น่าจะได้ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครแก่เกินเรียน แต่กว่าทาทาจะตัดสินใจออกจากโรงเรียนก็นานเป็นปี ได้ลองพยายามตั้งใจเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยแล้ว แต่ไม่ไหวจริงๆ ทรมานสังขารมากแล้วยิ่งทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แม่เห็นสภาพลูกแล้วก็สงสารมาก จนพ่อไปเจอระบบการศึกษาของอเมริกาเป็นการเรียนด้วยตัวเอง ตัดสินใจอยู่นานจนที่สุดก็เลือกเรียนแบบนี้ โดยสมัครเรียนทางอินเตอร์เน็ต แล้วเขาจะส่งข้อสอบประเมินผลก่อนการเรียน เพื่อกำหนดหลักสูตรให้ว่าเราจะต้องเรียนวิชาอะไรเพิ่มอีกบ้าง ต้องสอบอะไรให้ผ่านอย่างต่ำกี่คะแนน มีกำหนดระยะเวลาการเรียนมาให้ มีตำราเรียนพร้อมข้อสอบส่งมาให้ ซึ่งเราจะต้องมีคนรับรอง 3 คน คือ บาทหลวง ครู และพ่อแม่ที่จบครูมาโดยตรง เพื่อช่วยตรวจสอบยืนยันว่าข้อสอบเราเป็นคนทำเองจริงๆ และคอยเป็นที่ปรึกษาด้านการเรียนให้เราด้วย วิธีการเรียนแบบนี้ไม่ง่ายเลย ถ้าเราไม่ตั้งใจก็จะไม่จบ ยิ่งไม่มีเพื่อนร่วมเรียนบางครั้งก็เบื่อเกเรบ้าง เพราะความจริงแล้วเป็นหลักสูตรที่เขามีไว้ให้สำหรับคนที่มีข้อจำกัดไม่สามารถไปโรงเรียนได้จริงๆ เช่น เด็กผู้หญิงท้อง เด็กพิการ-ป่วย สิ่งที่ขาดหายไปในการเรียนแบบนี้คือสังคมในเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน บรรยากาศในห้องเรียนที่เราโหยหา ทาทาเสียเวลาไปกว่าหนึ่งปีเต็มที่ไม่ได้ตั้งใจเรียน จนเมื่อเริ่มมีครูพิเศษมาช่วยก็เริ่มตั้งใจเรียนอย่างจริงจัง ตะลุยเรียนสัปดาห์ละ 5 วันๆ ละ 5-8 ชั่วโมง จากที่เขากำหนดให้สัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 5 ชั่วโมง ทาทาใช้เวลาแค่ครึ่งปีก็จบเทียบเท่าระดับอนุปริญญา ทาทาตั้งใจอยากเรียนต่อปริญญาตรีด้านศิลปะการประกอบอาหาร ซึ่งคงต้องไปเรียนปฏิบัติที่อเมริกาด้วยตัวเองค่ะ"
ส่วน บำเรอ ผ่องอินทรีย์ หรือ โน้ต เชิญยิ้ม มีประสบการณ์การเรียนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ ทาทายัง โน๊ตจบโรงเรียนวัดและเรียนรู้ชีวิตด้วยตนเอง เขาเล่าว่า "ผมไม่กล้าบอกว่าตนเองจบ ป. 4 เพราะไม่ได้รับใบสุทธิรับรองการจบ หลังสอบเสร็จผมก็เกาะรถเข้ากรุงเทพเลย ตอนนั้นการศึกษาภาคบังคับให้จบประถม 4 ตอนเรียนชั้น ป.1-ป.3 ผมเรียนดีได้ที่หนึ่งมาโดยตลอด อาศัยชอบเรียนรู้ชอบอ่านหนังสือเองกระทั่งถุงกล้วยแขกผมก็ยังเกาะออกมาอ่าน จากนั้นก็เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตนเอง โชคดีที่มีรากฐานสำคัญได้รับการสั่งสอนจากพระจากหลวงพ่อ ให้ยึดหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแก่นสำคัญที่สุดในชีวิต ตอนนั้นผมจึงไม่คิดจะเรียนต่อ แม้แต่มีคนชวนให้เรียนวิชาชีพตัดผมผมก็ไม่เรียน คิดเพียงเรื่องดิ้นรนเอาชีวิตรอดไม่ให้อดตายเท่านั้น ถึงจุดนั้นผมจึงเริ่มเรียนด้วยประสบการณ์ชีวิต ผมจึงเสียดายมากที่เรียนจบมาน้อย เลยบอกกับลูกทุกคนว่า จะให้พ่อกราบเท้าพ่อก็ยอมช่วยเรียนแทนพ่อทีเถอะ ตอนนี้ลูกชายคนโตกำลังจะจบปริญญาตรีถือเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลมากเพราะเป็นคนแรกของตระกูลที่จะได้ปริญญา แต่ผมจะสอนลูกเสมอว่า คนที่มีการศึกษาสูงๆ ไม่ได้เป็นคนดีเสมอไป ฉะนั้นลูกต้องยึดมั่นทำความดีด้วย เวลาเรียนก็ไม่ต้องคิดว่าจะเรียนแข่งกับใคร เรียนเพื่อแข่งทำความดีให้ตัวเองดีกว่า อายุ 48 ปีที่ผ่านมาของผมจึงเป็นการเรียนด้วยการใช้ชีวิต และเน้นการอ่าน ดู และ ฟัง แล้วเลือกคัดเอาเฉพาะสิ่งที่ดีงามเอาไว้ปฏิบัติเท่านั้น"
ด้าน จรัสพงษ์ สุรัสวดี ที่มีดีกรีเป็นนักเรียนนอกนั้น ผ่านการเรียนจากโรงเรียนคริสเตียนในไทยและข้ามไกลไปเรียนในประเทศอังกฤษ ทำให้เขามีแนวคิด วิธีการคิดและแก้ปัญหาที่ค่อนข้างโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง "ความกล้าคิดกล้าพูดของผมน่าจะมาจากนิสัยส่วนตัวประกอบด้วยมากกว่า แต่ถ้าจะเน้นในเรื่องระบบการศึกษา ที่ผมเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันอยู่ จนทำให้ผมเองก็ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก คือ การศึกษาแบบเอเซียสอนความรู้ให้เด็กนักเรียน แต่การศึกษาทางซีกโลกตะวันตก สอนความรู้และสอนวิธีคิดให้นักเรียน จึงไม่น่าประหลาดใจว่า ทำไมสิ่งประดิษฐ์เกิดจากซีกโลกนั้นให้คนซีกโลกนี้ลอกเลียนแบบ ไทยเรากำลังทำการปฏิรูปการศึกษา แต่เราเน้นทำที่ระบบการศึกษา ทำไมไม่เน้นการปฏิรูปคนที่ให้การศึกษา และคนที่จะรับการศึกษา เพราะระบบไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิรูป ถ้าคนให้การศึกษายังมีวิธีคิดและวิธีการแบบเดิมๆ อยู่ ผลของการศึกษาก็คงไม่แตกต่างกันจากก่อนการปฏิรูปแน่ และน่าแปลกที่การศึกษาภาคบังคับของไทยเพิ่งจะบังคับให้จบมัธยมปลาย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเรายกระดับการศึกษาภาคบังคับสูงกว่านี้มานานแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน คืออินเดียแม้ประเทศเขามีคนยากจนเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ แต่บ้านเขาไม่มีการซื้อขายเสียงเลย เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาขั้นสูง จึงมีเพียงคนโง่เท่านั้นที่ยังขายเสียงอยู่ "
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดบทสรุปที่ได้จากประสบการณ์การเรียนรู้ของแขกรับเชิญทั้งสามต่างมีความเห็นพ้องต้องกันอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าจะผ่านการศึกษาในระบบใดๆ ก็ตาม ขอเพียงมีความใฝ่ดี และเป็นผู้ประพฤติดี ก็จะเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคมได้ทั้งสิ้น
ติดตามชมได้ในรายการ "เจาะใจ" ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ พุธที่ 23 ตุลาคม ศกนี้ เวลา 15.05 -15.55 น. ทาง ททบ. 5 ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ วิรดา อนุเทียนชัย
โทร. 0 - 2731 - 0630 ต่อ 312 // 0 - 1804 - 5493--จบ--
-ศน-