หมอมช. พบทางป้องกันธาลัสซีเมียรายใหม่ได้ 100%

04 Oct 2002

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--สกว.

แพทย์ มช. ประสบความสำเร็จโครงการนำร่องการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ ลดผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงรายใหม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ ชี้ลงทุนน้อยได้ผลคุ้มค่า เสนอให้วิจัยขยายผลต่อในพื้นที่อื่นๆ ( สามารถดาวน์โหลดบทความและภาพประกอบได้ที่ http://pr.trf.or.th )

รศ.นพ. ชเนนทร์ วนาพิทักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอผลการวิจัย เรื่องการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมีย ที่ได้นำวิธีการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์มาใช้ในคลินิกรับฝากครรภ์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อลดการเกิดใหม่ของผู้ป่วยที่เป็นโรค ในการประชุมเรื่อง การวิจัยชุดโครงการโรคธาลัสซีเมีย จัดโดย เครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสามารถลดผู้ป่วยธาลัสซีเมียรายใหม่ลงได้อย่างชัดเจน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2537

“ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะพบกรณี hydrop fetalis (ทารกตายคลอด หรือมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานจากธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง) ปีละ 30 ราย แต่หลังจากเริ่มโครงการในปี 2537 ก็ลดลงเรื่อยๆ จนถึงปี 42 ไม่มีกรณีนี้เกิดขึ้นอีกเลย นอกจากนี้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียรายใหม่ประเภทที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น เบต้าธาลัสซีเมียเมเจอร์ และฮีโมโกลบินอี ก็ลดลงด้วย” รศ.นพ. ชเนนทร์กล่าว ความพยายามที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นกรณีเดียวที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมไม่ให้เกิดผู้ป่วยธาลัสซีเมียรายใหม่ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการควบคุมโรคธาลัสซีเมียแบบครบวงจร โดยเริ่มจากการค้นหาคนไข้เพื่อทำการตรวจหาผู้เป็นพาหะทั้งในสามีและภรรยา แล้วทำการวินิจฉัยก่อนคลอดด้วยการเจาะเลือดจากสายสะดือหรือตรวจน้ำคร่ำ ไปจนถึงการให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม และให้ทางเลือกกับคนไข้ว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่

“โครงการลักษณะนี้มีความคุ้มทุนมาก หากลองคำนวณค่าใช้จ่ายต่อรายตั้งแต่การตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ ตรวจทารกในครรภ์ ไปจนถึงทำแท้งในรายที่พบว่าลูกเป็นธาลัสซีเมียและต้องการทำแท้งแล้วคูณด้วยจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงประมาณ 20,000 กว่ารายต่อปี จะใช้เงินประมาณ 16 ล้านบาทก็จะป้องกันผู้ป่วยรายใหม่ได้ ในขณะที่ค่ารักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียของประเทศอยู่ที่ประมาณ 200 กว่าล้านบาท” น.พ. ชเนนทร์กล่าว

จากการวิเคราะห์ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้โครงการไม่สำเร็จในพื้นที่อื่นๆ นั้น รศ. นพ. ชเนนทร์ ระบุว่า ปัญหาเหล่านี้เช่น การตามสามีของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียให้มาตรวจเลือดไม่ได้ ปัญหาที่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้ผลการตรวจคัดกรองมาแล้ว ไม่มั่นใจในการแปรผล เพราะไม่มีพี่เลี้ยงหรือคนคอยให้คำปรึกษา ไม่มีห้องตรวจปฏิบัติการสำหรับการตรวจเลือดที่มีความซับซ้อนบางอย่าง หรือการส่งคนไข้เพื่อทำการวินิจฉัยทารกในครรภ์ในสถานที่ห่างไกล ไม่สะดวก เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้โครงการที่ทำในพื้นที่อื่นๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ

ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดทำโครงการนำร่องดังกล่าวในจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด โดยมีทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นพี่เลี้ยงคอยติดตามและให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการกับจังหวัดต่างๆ เหล่านี้

นางจินตนา พัฒนพงศ์ธร จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “จากการประเมินผลงานทั้ง 17 จังหวัด ในปี 2543 เราสามารถลดผู้ป่วยรายใหม่ชนิดรุนแรงได้ถึง 297 ราย ซึ่งเป็นการคุ้มทุนมาก เราพยายามที่จะสร้างเครือข่ายสถานบริการตรวจคัดกรองฯ ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยลดขั้นตอนการส่งต่อไปยังสถานบริการตามลำดับในกรณีที่พบหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยง ให้ส่งไปยังศูนย์ศูนย์ของโครงการเลย และจะทำการตรวจฟรีให้อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม การขยายผลการศึกษาในลักษณะโครงการนำร่องไปสู่การควบคุมและป้องกันการเกิดใหม่ของผู้ป่วยธาลัสซีเมียทั้งประเทศ ผ่านทางระบบบริการสาธารณสุขนั้น ยังต้องการการวิจัยอีกหลายด้าน โดยชุดโครงการวิจัยธาลัสซีเมีย เครือข่ายวิจัยสุขภาพ จะเสนอกรอบการวิจัยสำหรับการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในชุดโครงการต่อไป

สามารถดาวน์โหลดบทความและภาพประกอบได้ที่ http://pr.trf.or.th หรือติดต่อประชาสัมพันธ์ สกว.--จบ-- -นห-