ดนตรีพื้นบ้าน สร้างจริยธรรม สานสัมพันธ์ของคนสองวัย

04 Oct 2002

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--สกว.

ข่าวครูค้ายาบ้ากำลังเป็นข่าวครึกโครมตามหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับจนทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมไทยว่า แม้แต่ครูซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของชาติยังมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ แล้วอย่างนี้บรรดา พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะกล้าฝากความหวังหรือฝากอนาคตของบุตรหลานไว้กับครูได้หรือ … แต่ที่ชุมชนบ้านทุ่งหลวงและชุมชนบ้านร่องจว้า อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา “ครู” ที่นี่พยายามทุกวิถีทางเพื่อจะช่วยให้เด็กนักเรียนทั้งสองชุมชนนี้มีคุณภาพชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่หันไปเสพยาบ้าหรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไป โดยนำ “ดนตรีพื้นบ้าน”มาเป็นสื่อกลาง พร้อมกับใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาผสมผสานจนก่อให้เกิดหลักสูตรท้องถิ่นดนตรีพื้นเมืองขึ้น ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวช่วยทำให้เยาวชนในชุมชนนี้มีบุคลิกภาพ คุณลักษณะนิสัย และความประพฤติที่ดี เป็นที่พออกพอใจของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก

สามารถดาวน์โหลดภาพและบทความนี้ได้ที่ http://pr.trf.or.th

แว่วเสียงซอ ซึง ขลุ่ย และพิณ ดังมาจากอาคารไม้ใต้ถุนสูง เป็นบทเพลงที่ผสมผสานเสียงดนตรีอย่างกระท่อนกระแท่น เนื่องเพราะเครื่องดนตรีพื้นเมืองทั้งสี่ชิ้นนั้น ถูกบรรเลงด้วยคนต่างสถานภาพและ ต่างวัย

เป็นบทเพลงพื้นเมืองที่บรรเลงร่วมกันระหว่างคนเฒ่าคนแก่ที่เชี่ยวชาญ และช่ำชองในเชิงดนตรี กับเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้สันทัดในเรื่องดนตรีมากเท่าไรนัก เล่นเพราะใจอยากเล่น…..เล่นตามโน็ต 7 ตัวที่คุณครูบรรจงถอดออกมาจากการฟังการบรรเลงของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านด้วยความหวังที่จะถ่ายทอดบทเพลงเก่าๆเหล่านี้สู่คนรุ่นใหม่….ซึ่งต้องใช้ความพยายามอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

"เพราะครูภูมิปัญหาเหล่านั้นไม่สามารถสื่อสาร หรือถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีให้แก่เด็ก ๆ ได้ แต่หลายคนก็ยังมีความตั้งใจ และมีความพยายามสูง แม้แต่ตัวเด็กเองก็ไม่ได้ย่อท้อ พยายามตั้งใจฟัง และฝึกฝนจนกระทั่งสามารถต่อเพลงกับพ่อครูแม่ครูผู้สอนได้ แม้จะฟังดูแปลก ๆ ผิดเสียง ผิดโน๊ตไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี "

กรรณิการ์ ไชยลังกา ครูสอนดนตรีจากโรงเรียนบ้านร่องจว้า ที่สละเวลาที่ว่างจากการสอนหนังสือในช่วงเวลาเย็นมาที่โรงเรียนบ้านทุ่งหลวง เพื่อจัดระบบการเรียนการสอนวิชาดนตรี อันเป็นหนึ่งในโครงการวิจัย การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดนตรีพื้นบ้าน เพื่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะนิสัยของเยาวชนบ้านทุ่งหลวงและบ้านร่องจว้า อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค)

ครูกรรณิการ์กล่าวว่า การนำเอาดนตรีพื้นบ้านที่สอนโดยพ่อครู แม่ครู นอกจากจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย แล้วนั้น ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับกล่อมจิตใจเด็ก ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างคุณลักษณะอันดีให้แก่เด็ก ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องพฤติกรรม ที่กำลังเบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่ดี และเป็นที่วิตกกังวลของพ่อแม่ และผู้ปกครอง …ประกอบกับยังมีผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนที่พอจะมีความรู้เรื่องดนตรีพื้นบ้าน และเห็นว่าท่านเหล่านั้นน่าจะสามารถถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวแก่เด็ก ๆ ได้

"เด็กที่นี่ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ แต่จะอยู่กับปู่ย่า ตายาย หรือ คนอื่น ๆ เด็กๆจึงใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเที่ยวเตรี ที่ร้ายกว่านั้นเด็กบางคนก็หันไปหาสิ่งเสพติด และใช้เวลาให้หมดไปกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เลยคิดว่าหากเอาดนตรีมาใช้เป็นเครื่องมือในการขัดเกลาจิตใจเด็ก ๆ และเอาเวลาที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างคุณลักษณะอันดีให้กับเด็ก ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้…อีกทั้งยังมีคนเฒ่าคนแก่หลายคนที่พอจะมีความรู้เรื่องดนตรีพื้นบ้าน และเห็นว่าท่านเหล่านั้นน่าจะสามารถถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวแก่เด็ก ๆ ได้.."

ครูกรรณิการ์ จึงหารือกับ พ่อ แม่ และผู้ปกครองของเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อระดมความคิด หาแนวทาง และความต้องการของผู้ปกครองว่า….ส่วนใหญ่ต้องการให้บุตรในความดูแลของตนเอง มีบุคลิกและลักษณะนิสัยอย่างไร และจะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายที่ผู้ปกครองทุกคนคาดหวัง"ผู้ปกครองหลายคนสะท้อนออกมาในเวทีระดมความคิดว่า ทุกวันนี้บุตรหลานมีนิสัยไม่เรียบร้อย ไม่ค่อยช่วยงานบ้าน…ไม่ขยันเรียนหนังสือ และไม่เคารพผู้ใหญ่…จริง ๆ แล้วเรื่องเหล่านี้เด็กก็ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด เพียงแต่ไม่เคยมีใครบอก หรือสอน อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่บางคนไม่มีเวลามากพอที่จะสั่งสอนบุตรหลานของตัวเอง" ครูกรรณิการ์ อธิบาย

เมื่อได้ทั้งความต้องการของพ่อ - แม่ และผู้ปกครอง ครูกรรณิการ์จึงนำเอาความต้องการเหล่านั้นเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือในการถ่ายทอดภูมิปัญญาเรื่องดนตรีพื้นเมือง

สำหรับกลุ่มเด็ก…ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ครูกรรณิการ์อธิบายถึงการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เด็กเข้ามาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ด้วยการอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า การเรียนดนตรีนอกจากจะทำให้เด็กมีความสามารถในการเล่นดนตรีแล้วนั้น ยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง "เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้จะมาจากการสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับ…ทุกคนจะเขียนใบสมัครแล้วบรรยายบุคลิกและ ลักษณะนิสัยของตัวเองออกมา ครูเพียงแต่บอกว่า เด็ก ๆ จะได้รับอะไรบ้างจากการเรียนดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะความสามารถในการเล่นดนตรี และลักษณะนิสัยดี ๆ อีกหลายประการ เช่นความมีวินัยในตัวเอง ที่จะเป็นคนที่มีระเบียบมากขึ้น …"

เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนวิชาดนตรีพื้นเมืองโดยเลือกเอาเครื่องดนตรี ที่ตัวเองชื่นชอบ แม้ในระยะแรกเริ่มเครื่องดนตรีอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของกลุ่มเด็ก แต่ด้วยแรงหนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้จัดงบประมาณมาให้ส่วนหนึ่ง….เด็กจึงมีเครื่องดนตรีกันคนละชิ้นไว้สำหรับฝึกซ้อนทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน

สำหรับการดำเนินการสอนในช่วงแรก ครูกรรณิการ์อธิบายว่า ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เท่าที่ควร เนื่องจากความต่างระหว่างวัย และ " วิธีการสอน" ซึ่ง พ่อครูแม่ครูเหล่านั้นไม่สามารถถ่ายทอดแก่เด็กรุ่นหลังให้เกิดความเข้าใจได้

"ปัญหามันอยู่ที่เรื่องของการถ่ายทอด…เรารู้แนวทางการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก แต่ยังติดขัดเรื่องการถ่ายทอด เพราะฉะนั้นงานวิจัยจึงต้องการค้นหาวิธีการ รูปแบบการถ่ายทอดความรู้เรื่องดนตรีจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งว่าจะสามารถทำได้อย่างไร" ครูกรรณิการ์จึงพยายามถอดตัวโน๊ตจากบทเพลงที่ครูภูมิปัญญาแต่ละท่านเล่น แล้วนำมาบรรจุไว้ในวิชาดนตรี เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และเด็กจะเรียนจากตัวโน๊ตพร้อมกับเล่นคลอไปกับครูภูมิปัญญา จึงทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น เด็ก ๆ จึงสนุกสนาน และตั้งใจเรียนกันมากขึ้น"เมื่อเด็กสนุก จึงเกิดความตั้งใจ สิ่งที่ได้ตามมาก็คือเวลาจะหมดไปกับการเรียนดนตรี เลิกเที่ยวเล่นเหมือนที่ผ่าน ๆ มาและหลังจากที่เรียนไปได้ซักช่วงเวลาหนึ่งพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ก็เปลี่ยนไป เพราะเด็กเรียบร้อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด"

นางประนม วันพรม แม่ของเด็กหญิง อภิญญา วันพรม กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า พฤติกรรมลูกสาวเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะที่ผ่าน ๆ ไม่ค่อยช่วยงานบ้าน และชอบเที่ยว ไม่รู้จักเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ แต่พอมาเรียนดนตรีก็ดีขึ้น เรียบร้อยขึ้น

"ตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนจะไหว้แม่ ปกติไม่เคยไหว้เลยแม้แต่ครั้งเดียว…ยอมรับว่าลูกสาวนิสัยดีขึ้นมาก" สำหรับ อภิญญา วันพรหม นักเรียนชั้น ป.6 อายุ 11 ปี โรงเรียนบ้านทุ่งหลวง บอกว่า ตัวเองนั้นเป็นลูกคนเดียวของ ก่อนที่จะมาเข้าชุมนุมดนตรีนี้นิสัยค่อนข้างซน ดื้อ บางครั้งก็มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เวลาว่างในช่วงเย็นส่วนใหญ่จะทำการบ้าน ช่วยงานบ้านบ้างเล็กน้อย จนเมื่อที่โรงเรียนเปิดรับสมัครเข้าชุมนุมดนตรีจึงสมัครเข้ามา "เล่นสะล้อ กับกลองเล็ก…รู้สึกสนุกและมีความสุขมากกับการได้เล่นดนตรีพื้นบ้าน และภูมิใจมากขึ้นเมื่อมีครูภูมิปัญญามาช่วยสอนให้ เพราะเพลงบางเพลงซึ่งเป็นเพลงพื้นเมืองจริง ๆ เด็กรุ่นใหม่จะเล่นไม่ได้ ทำให้พวกได้เรียนรู้เพลงพื้นเมืองเก่า ๆ หลายเพลง นอกจากนี้ยังรู้สึกอบอุ่นที่ผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้เข้ามาช่วยสอนดนตรีพื้นเมืองให้ หลังจากเข้าชุมนุมดนตรีนี้ได้ 4-5 เดือน แม่บอกว่าหนูเป็นเด็กน่ารักขึ้น ไม่ซน ไม่ดื้อ เวลาว่างบางครั้งเย็นๆก็จะนั่งเล่นดนตรีกับแม่ โดยแม่จะเล่นซึงด้วย”

น้องอภิญญายังเล่าต่อว่า หากให้เลือกระหว่างการเล่นดนตรีพื้นเมืองกันดนตรีสมัยใหม่แล้วขอเลือกเล่นดนตรีพื้นเมืองดีกว่า เพราะเพลงพื้นเมืองจะมีความไพเราะ ภาษาก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฟังแล้วไพเราะกว่ากันมาก และอยากให้โรงเรียนมีการนำหลักสูตรแบบนี้มาประยุกต์ใช้กับหลายๆวิชา เพราะเวลาเรียนจะรู้สึกไม่เบื่อและมีความสุขกับการเรียนที่ชุมชนบ้านร่องจว้า และชุมชนบ้านทุ่งหลวง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อหมดฤดูทำนาคนวัยทำงานก็จะเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดโดยปล่อยให้เด็กอยู่กับคนสูงอายุ (ปู่ ย่า ตา ยาย) ส่งผลให้เด็กขาดความอบอุ่น และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่ดี

โรงเรียนทั้งสองได้พยายามจัดการเรียนการสอนหรือจัดระบบดูแล และช่วยเหลือขึ้น แต่เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเชิงวิชาการ ซึ่งไม่ได้เน้นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็ก ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวจึงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรกระทั่งเมื่อนโยบายการศึกษากำหนดให้แต่ละชุมชนจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน กลุ่มผู้ปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน และครูผู้สอน จึงเห็นควรให้มีการค้นหารูปแบบ/วิธีการที่จะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะนิสัยของเยาวชน โดยใช้การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดนตรีพื้นบ้านเป็นสื่อ เพื่อให้เด็กมีความอดทน มีสมาธิ และมีระเบียบวินัย อีกทั้ง ยังเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เด็กรุ่นใหม่ สร้างความรู้สึกหวงแหนในประเพณี / วัฒนธรรมของท้องถิ่นตนเอง นอกจากนี้กระบวนการและวิธีการที่ได้ยังจะเป็นแนวทางสำหรับใช้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับโรงเรียนร่องจว้าและโรงเรียนบ้านทุ่งหลวงต่อไป--จบ-- -ศน-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit