ปลัดกทม.มอบป้ายสัญลักษณ์ โรงเรียนคุณภาพ

10 Oct 2002

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กทม.

ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อวันที่ 8 ต.ค.45 นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานมอบป้ายสัญลักษณ์ "โรงเรียนคุณภาพ" แก่โรงเรียนที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการประกันคุณภาพทางการศึกษาของสำนักการศึกษา และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทางการศึกษา จำนวน 140 โรงเรียน พร้อมทั้งมอบนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาการศึกษาของกรุงเทพมหานครให้ก้าวไกล และก้าวทันโลก ภายใต้คำขวัญ "เรียนรู้ คู่ร้อยยิ้ม" โดยมี นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษากทม. ผู้บริหารของสำนักการศึกษา ผู้อำนวยการเขต ศึกษาธิการเขต และผู้บริหารสถานศึกษา ร่วมพิธี

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการมอบป้ายสัญลักษณ์ "โรงเรียนคุณภาพ" ว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดวิสัยทัศน์การศึกษาในปีการศึกษา 2543 -2547 ว่า "ปฏิรูปการเรียนรู้ มุ่งสู่การประกันคุณภาพ ส่งเสริมความเป็นไทย ทันสมัยในวิทยาการ ประชาชนมีส่วนร่วม" สำนักการศึกษาในฐานะที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครจึงได้เร่งดำเนินการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเน้นที่ คุณภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้การประกันคุณภาพทางการศึกษาจะเน้นที่การบริหารทันสมัยมุ่งสู่สัมฤทธิ์ผล โดยสำนักการศึกษาจะประเมินตนเองและจัดให้สถานศึกษาได้ประเมินตนเอง โดยขณะนี้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการประกันคุณภาพทางการศึกษา มีจำนวนทั้งสิ้น 140 โรงเรียน ซึ่งคาดว่า ในปีการศึกษา 2546 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจะเป็นโรงเรียนคุณภาพได้ทั้ง 431 โรงเรียน

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวคิด ลายสือไทย ตำนานท้องถิ่น แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน อาชีพชุมชน จะเป็นการพัฒนาหลักสูตรโดยการนำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มบทบาทของโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสามประโยชน์ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย พร้อมทั้งสนับสนุนครอบครัวให้เข้ามามีบทบาทร่วมในการจัดการเรียนการสอน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ด้อยโอกาส ผู้พิการได้รับการศึกษาด้วย ที่สำคัญความทันสมัยในวิทยาการจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุก และน่าสนใจในสาระการเรียนรู้ คือ เด็กจะได้เรียนรู้ชีวิตจากสภาพที่เป็นจริง ครูที่อยู่รอบตัวเด็ก คือ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือชุมชน นอกจากนี้ครูผู้สอนทุกคนจะต้องมีส่วนในผลงาน รวมทั้งจะมีการพัฒนาครูโดยจัดการฝึกอบรม เน้นที่เนื้อหาและกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งใช้โรงเรียนเป็นฐานการอบรมเพื่อสร้างเครือข่ายครูในพื้นที่เดียวกัน และใช้ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นการประเมินคุณภาพครู

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นเสมือนบันไดที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จด้านการจัดการการศึกษาที่กรุงเทพมหานครได้วางไว้ คือ โรงเรียนแห่งความพึงพอใจ ซึ่งสามารถบรรลุผลได้ภายใน 2 ปี แต่สิ่งหนึ่งที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นก็ คือ ต้องมีรอยยิ้ม ที่เกิดขึ้นทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียน ดั่งคำขวัญที่ว่า "เรียนรู้ คู่ รอยยิ้ม"--จบ-- -นห-