กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กระทรวงแรงงานฯ
นายสุวัจน์ ลิมปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายอภัย จันทนจุลกะ ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่อาคารอิมแพค เมืองทองธานี ในวันที่ 10 ตุลาคม 2545 การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่กระทรวงแรงงานได้เริ่มเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองใน 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา โดยในครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2544 - 25 ตุลาคม 2544 โดยมีนายจ้างและสถานประกอบการต่างๆได้นำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมายื่นความจำนงเพื่อขอจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจำนวน 568,249 คน เจตนาเพื่อทราบจำนวนและที่อยู่ที่ชัดเจนของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ในประเทศไทย และในครั้งที่สองวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 - 25 มีนาคม 2545 ที่อนุญาตให้มีการนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้จดทะเบียนแล้วมาต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวภายหลังจากที่ได้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวไปแล้ว 6 เดือนโดยมีเงื่อนไขว่าแรงงานต่างด้าวที่มาต่อทะเบียนต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ปรากฏว่ามีนายจ้างและสถานประกอบการได้นำแรงงานงานต่างด้าวมาขอต่อทะเบียนจำนวน 430,074 คน สำหรับการต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2545 และจะสิ้นสุดในวันที่ 15 ตุลาคม 2545 ที่จะถึงนี้ โดยเปิดโอกาสให้นายจ้างที่มีความประสงค์จะใช้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ผ่านการจดทะเบียนแล้วมาขอต่อใบอนุญาตได้ ใน 6 ประเภทกิจการคือ ประเภทที่ 1 กรรมกรทั่วไปเช่น กรรมกรในกิจการขนส่งทางบก ทางน้ำ กิจการเหมืองแร่ กิจการโรงสี กิจการก่อสร้าง เป็นต้น ประเภทที่ 2 กรรมกรในกิจการประมง เช่นประมงทะเล แพปลา แพกุ้ง และกิจการเกี่ยวเนื่องประมงทะเล โรงน้ำแข็ง เป็นต้น ประเภทที่ 3 ลูกจ้างที่ใช้แรงงานเป็นหลักในโรงงานหรือสถานประกอบกิจการหรือต้องใช้ทักษะที่ไม่ซับซ้อน แต่ซ้ำๆตลอดเวลาทำงานในโรงงานหรือสถานประกอบกิจการ ประเภทที่ 4 ผู้รับใช้ในบ้านโดยให้หมายความรวมถึงงานรับซักรีดผ้าตามบ้านแต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงผู้บริหารงานหรือผู้ควบคุมงานดังกล่าว ประเภทที่ 5 ลูกจ้างในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์บก สัตว์น้ำ ยกเว้นงานควบคุม ดูแลฟาร์ม หรืองานที่ใช้ความชำนาญเฉพาะสาขา ประเภทที่ 6 ลูกจ้างในแปลงเพาะปลูกพืช เช่น สวนผัก ผลไม้ พืชไร่ พืชสวน ไม้ดอก ยาง สวนปาล์ม เป็นต้น โดยที่กรุงเทพมหานครสามารถขอต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ที่อาคารอิมแพค เมืองทองธานี ส่วนภูมิภาคตามสถานที่ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดแต่ละจังหวัดได้กำหนดขึ้น ซึ่งล่าสุดยอดการต่อทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน - 7 ตุลาคม 2545 มีแรงงานต่างด้าวมาต่อใบอนุญาตแล้วทั้งสิ้น 168,497 คน โดยแบ่งเป็นพม่า 140,426 คน ลาว 17,797 คน และกัมพูชา 10,274 คน--จบ--
-สส-