รฟม.แจ้งความจำเป็นในการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางหว้า

09 Oct 2002

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--รฟม.

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางหว้า มีความจำเป็นต้องเร่งก่อสร้าง เนื่องจากเป็นโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรของประชาชนฝั่งธนบุรีและพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และเป็นการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้โครงการฯ สายเฉลิมรัชมงคล ระยะแรก ให้มีความอยู่รอดทางการเงิน และทำให้ภาครัฐมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มมากขึ้น

นายเยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า ขณะนี้ รฟม. ได้เสนอโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 13.8 กิโลเมตร ให้ ครม. พิจารณา โดยจะก่อสร้างช่วงหัวลำโพง-บางหว้า ระยะทาง 8.7 กิโลเมตรก่อน แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาเห็นว่าควรจะก่อสร้างไปถึงบางแค เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรในบริเวณฝั่งธนบุรี พื้นที่เกาะ รัตนโกสินทร์และย่านเยาวราช ทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่มารองรับการเดินทางดังกล่าว ซึ่งการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา มูเชล (Mouchel) พบว่าโครงการดังกล่าว (หัวลำโพง-บางแค) จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน เช่น ช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษารถยนต์ถึงปีละ 14,000 ล้านบาท ช่วยลดมลพิษทางอากาศและเสียงในพื้นที่ตามแนวสายทางคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 580 ล้านบาท ช่วยให้เกิดการจ้างงานช่วงการก่อสร้างกว่า 5,000 คน ซึ่งร้อยละ 95 เป็นแรงงานท้องถิ่น และเป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศร้อยละ 78 นอกจากนี้การก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้โครงการฯ สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง- ห้วยขวาง-บางซื่อ) ประมาณ 45,000 คนต่อวัน ซึ่งจะช่วยเสริมให้การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลดีขึ้น

รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า รฟม. ได้วางแผนการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ประกอบด้วย 4 สถานีใต้ดิน และ 6 สถานียกระดับ มีค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการต่างๆ เช่น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา รวมถึงค่างานระบบรถไฟฟ้าประมาณ 48,241 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าก่อสร้างที่จะมีเพิ่มขึ้นเนื่องจากการก่อสร้างสถานีใต้ดินโดยไม่เปิดหน้าดินในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดบริการส่วนต่อขยายได้ในต้นปี 2552--จบ-- -สส-