กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สกว.
งานวิจัย (สกว.) “สู่การปฏิรูประบบโทรคมนาคมชาติ” เรื่องการป้องกันการผูกขาด โดยดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ชี้ให้เห็นว่าตลาดโทรคมคมไทยยังมีการกระจุกตัวที่สูง แข่งขันไม่เต็มที่ รายใหญ่กินส่วนแบ่งตลาดถึง 60% แต่ยังไม่ถือว่ามีความผิด เพราะทุกอย่างต้องดูจากพฤติกรรมการดำเนินกิจการเข้าข่ายใด เช่น ใช้อำนาจเหนือตลาด มีการฮั้วกัน พฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรม ทุกอย่างยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมเพราะต้องรอการเกิดขึ้นของ กทช.
(สามารถดาวน์โหลดข่าวได้ที่ http://pr.trf.or.th )
การที่ภาครัฐเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจสิทธิขาดที่จะต้องบำรุงและทำการโทรเลขและโทรศัพท์ภายในราชอาณาจักรสยาม (มาตรา 5) ตาม พ.ร.บ.โทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ.2477 แต่ในปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริการโทรคมนาคมตั้งแต่ปี 2535 โดยการทำสัญญาร่วมการงานกับหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการเอกชนเหล่านี้มีสถานภาพเป็นเพียง “ผู้ร่วมการงาน” เท่านั้นมิได้เป็น “ผู้ให้บริการโทรคมนาคม” ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
ผู้ประกอบการเอกชนจึงสามารถแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจได้เฉพาะภายใต้กรอบของเงื่อนไขของสัญญาร่วมการงาน รวมทั้งผู้ประกอบการเอกชนยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในโครงข่ายการสื่อสารที่ได้ลงทุนลงไป เนื่องจากสัญญาร่วมการงานกำหนดให้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในโครงข่ายให้แก่หน่วยงานรัฐคู่สัญญา
ในทางนิตินัย ตลาดโทรคมนาคมในปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการเพียงสองราย คือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทีมงานวิจัยโครงการ “สู่การปฏิรูประบบโทรคมนาคมชาติ” ภายใต้หัวข้อ “การป้องกันการผูกขาด” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่า จากโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมที่ยังมีลักษณะที่กระจุกตัวดังกล่าว ผู้ประกอบการรายใหญ่จึงอยู่ในฐานะที่สามารถใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพื่อจำกัดหรือกีดกันคู่แข่งเช่นที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เคยกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น การไม่ให้โรมมิ่งบริการด้วย
นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังอาจร่วมกันเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการกำหนดราคาสินค้าร่วมกัน หรือมีพฤติกรรมการขายพ่วงดังที่พบในกรณีการล็อกอีมี่ของการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีตลาดโทรคมนาคมคาดว่า จะพบพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในอีกหลายรูปแบบ อาทิ การไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อมต่อโครงข่าย การอุดหนุนไขว้ การสมคบกันกำหนดอัตราค่าบริการ หรือการควบรวมกิจการโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการแข่งขันด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ในการแข่งขันในการตลาดโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ทั้งนี้ งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึง ความเพียงพอและประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย และเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่จำเป็นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการศึกษากฎเกณฑ์ในการป้องกันการผูกขาดที่เกี่ยวข้องกับตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยคือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
ดร.เดือนเด่น กล่าวเสริมต่อว่า หลักเกณฑ์ที่กทช.ต้องพิจารณาเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการเป็นรูปธรรมแล้ว ประกอบด้วย 1.กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่ต้องกำกับดูแล ดังนั้นพฤติกรรมการกำกับดูแลยังอยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ ขณะนี้พิจารณาภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ห้ามมิให้ผู้ประกอบการรายใดมีพฤติกรรมที่เป็นการจำกัด หรือกีดกันทางการแข่งขันที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันควร
2.การรวมธุรกิจ อาจมีผลทำให้การแข่งขันในตลาดน้อยลงหรือเกิดการผูกขาดขึ้นในตลาด 3.การกระทำการตกลงร่วมกัน หรือ “การฮั้ว” ผู้ประกอบการอาจไม่ใช่รายใหญ่ แต่มีการรวมตัวกันเพื่อจะกีดกันการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ หรือเอาเปรียบผู้บริโภค และ 4. การใช้อำนาจเหนือตลาดภายใต้เกณฑ์ราคา ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงมีพฤติกรรมที่จำกัดหรือกีดกันคู่แข่งหรือเอาเปรียบผู้บริโภคโดยการกำหนดราคาสินค้าที่ไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดตลาดโทรคมนาคมไทยมีลักษณะที่กระจุกตัวสูง และมีการแข่งขันไม่เต็มที่ โดยในกรณีของบริการโทรศัพท์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายคือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และบริษัทเทเลคอมเอเชีย ส่วนภูมิภาคมีผู้ประกอบการ 2 รายเช่นเดียวกันคือ องค์การโทรศัพท์ฯ และบริษัททีที แอนด์ ที ด้านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้จะมีผู้ประกอบการถึง 4 ราย แต่รายใหญ่ที่สุดคือ เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 60% ขณะที่บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมยังมีลักษณะผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายเดียว คือบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด เป็นต้น
สาเหตุดังกล่าวเนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายเปิดเสรีบริการโทรศัพท์ในรูปแบบต่างๆ และไม่มีการควบคุมพฤติกรรมของผู้ประกอบกิจการ ดังนั้นสิ่งที่จะสามารถควบคุมได้เป็นรูปธรรมคือ การรอให้มีการจัดตั้ง กทช.อย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์สกว. โทร.02-298-0455-72 ต่อ 159,160--จบ--
-ศน-