ผลสำรวจพบบริษัทญี่ปุ่น40%ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าปลอม

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค (ประเทศไทย) ผลสำรวจล่าสุดพบว่าบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยสูญเสียยอดขายกว่า 35 ล้านบาทเมื่อปี ที่แล้ว เนื่องมาจากปัญหาสินค้าปลอมแปลง โดยฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การส่งเสริม การค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ ดำเนินการสำรวจสภาวะความเสียหายจากสินค้าเลียนแบบของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 41.3 ของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ร่วมตอบแบบสอบถามได้รับความเสียหายจากปัญหาสินค้าปลอมแปลง นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังพบว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคืออันตรายที่อาจเกิดจากการใช้สินค้าปลอมแปลง การสำรวจครั้งนี้ริเริ่มโดยสำนักงานสิทธิบัตรของญี่ปุ่น โดยมุ่งหวังที่จะทราบถึงสภาพความเสียหายของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งบริษัทและสาขาในประเทศไทย และนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการที่รัฐบาลญี่ปุ่นตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาออกมาตรการเพิ่มความเข้มงวด ในการดำเนินการต่อไป เจโทรจึงร่วมมือกับหอการค้าญี่ปุ่นจัดการสำรวจขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมากกว่า 200 บริษัทร่วมในการสำรวจครั้งนี้ มร.จุนอิจิ มัทซึโอะ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา ของเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า "การสำรวจครั้งนี้พบว่าปัญหาสินค้าปลอมแปลงในประเทศไทยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะสินค้าประเภท ซีดีเพลง วีซีดี ดีวีดีภาพยนต์ และโปรแกรมซอฟท์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์อาหาร และสินค้าจำเป็นต่างๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าสินค้าปลอมเหล่านี้มีคุณภาพต่ำมากเมื่อเทียบกับสินค้าจริง" "สินค้าปลอมที่ไม่ได้คุณภาพเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภคได้ เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดของเครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วนที่เป็นของปลอมซึ่งบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยต่างก็แสดงความกังวลถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย" มร.ฮิโร ซูโต ประธานคณะกรรมการด้านกฎหมาย หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ กล่าวเสริมว่า "ถึงแม้ว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมในการสำรวจกว่า 60% จะรู้สึกว่ามาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยยังไม่เพียงพอ แต่บริษัทเองก็ไม่ได้มีงบประมาณหรือบุคลากรเพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้เช่นกัน มีเพียงร้อยละ 24.5 เท่านั้นที่มีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพของบริษัทในการปราบปรามให้มากขึ้น" "หอการค้าญี่ปุ่น ในกรุงเทพฯ และบริษัทสมาชิกชื่นชมมาตรการต่อต้านสินค้าปลอมของรัฐบาลไทย แต่เราก็ยังอยากที่จะให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจในการปราบปรามสินค้าปลอมประเภทสินค้าอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อาหาร และสินค้าจำเป็นอื่นๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัย ของผู้บริโภคไทยเป็นสำคัญ" "ทางหอการค้าญี่ปุ่น และเจโทร มีแผนที่จะจัดกิจกรรมในลักษณะของการสัมมนา และบริการให้คำปรึกษา เพื่อกระตุ้นให้บริษัทญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในการต่อต้านสินค้าปลอมแปลง และแน่นอนว่า เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการจัดทำโครงการแคมเปญต่อต้านสินค้าปลอมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตญี่ปุ่นและผู้บริโภคไทย" มร.ซูโต กล่าวสรุป ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: มร. จุนอิจิ มัทซึโอะ หรือ คุณณัฐนิดา อิงคะกุล ฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา เจโทร กรุงเทพฯ โทร 0-2253-6441-5 ต่อ 140 หรือ130 URL: http://www.jetrobkk-ip.com หากท่านสนใจที่จะสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของเจโทร หรือ หอการค้าญี่ปุ่น กรุณาติดต่อ คุณชุติมา ดวงพาณิช ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจโทร กรุงเทพฯ โทร 0-2253-6441 ต่อ 147 อีเมลล์ [email protected] หรือ คุณนฑาห์ สังขะวัฒนะ เวเบอร์ แชนด์วิค (ประเทศไทย) โทร 0-2257-0300 ต่อ 331 อีเมลล์ [email protected]จบ-- -พห-

ข่าวทรัพย์สินทางปัญญา+เวเบอร์ แชนด์วิควันนี้

"พิชัย-สุชาติ" เปิดศูนย์ IP One ยกระดับทรัพย์สินทางปัญญาไทยครบวงจร หนุนธุรกิจโตสู่ตลาดโลก

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงฯ และนางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมเปิด "ศูนย์บริการทรัพย์สินทางปัญญาครบวงจร (IP One)" เพื่อยกระดับบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การรับคำขอ การให้คำปรึกษา ไปจนถึงการส่งเสริมการใช้เชิงพาณิชย์และการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจทุกขนาดและประชาชนทั่วไปให้ได้รับการบริการที่ครบวงจร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดห... ก.ล.ต. ร่วม Meta และ Facebook ประเทศไทย เสริมสร้างการปกป้องแบรนด์และทรัพย์สินทางปัญญา — สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศ...