เมื่อไรควรพบหมอตา

20 Feb 2003

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--PR & Associates

หลายคนเป็นโรคตาร้ายแรงโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็เกือบสาย และเกือบสูญเสียดวงตาไปแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะมี โรคตาอันตรายหลายชนิดที่ไม่แสดงอาการให้เห็น

และอีกหลายคนที่ต้องสูญเสียดวงตาหรือเกือบจะสูญเสียดวงตาสืบเนื่องมาจากความเข้าใจผิดหรือขาดความใส่ใจในการ มองที่ผิดปกติโดยคิดว่าอาการเหล่านั้นจะหายเองได้ สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นก่อนวัยอันควรทั้งที่สามารถรักษา ให้หายได้ถ้าตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆ

"ทุกคนยอมรับว่าดวงตาถือเป็นอวัยวะที่สำคัญมากของร่างกาย แต่กลับไม่ให้ความสำคัญในการดูแลรักษา สุขภาพดวงตาเท่าที่ควร บางครั้งอาจน้อยกว่าการดูแลเรื่องความสวยความงามด้วยซ้ำ จึงมีผู้ป่วยหลายคน เมื่อมาพบจักษุแพทย์ก็สาย เกินกว่าที่จะรักษาได้ เพราะปล่อยให้อาการผิดปกติทางตาเกิดขึ้นเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตาร้ายแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะหากผู้ป่วยเหล่านี้พบจักษุแพทย์และตรวจเช็คสุขภาพตาประจำปีบ้าง ก็คงไม่สายเกินแก้" พญ.กัลยาณี โรจนาภรณ์ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน กล่าวให้ความเห็น

ขณะที่อีกหลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อไรที่ต้องพบจักษุแพทย์ และผู้ที่ไม่มีอาการอะไรเลยเกี่ยวกับดวงตาจำเป็นด้วยหรือที่จะ ต้องพบจักษุแพทย์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.กัลยาณี ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรกคือ ในวัยเด็ก

o เด็กที่มีสายตาปกติหรือไม่มีอาการ ผู้ปกครองควรพาไปพบจักษุแพทย์ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คว่าเด็ก มีสายตาผิดปกติหรือไม่ เช่น มีอาการตาเหล่หรือตาทั้งสองข้างมองเห็นไม่เท่ากันหรือไม่ หรือมีอาการสายตาสั้น สายตาเอียงหรือไม่ ซึ่งถ้าตรวจแล้วสายตาปกติดี ครั้งต่อไปควรตรวจเมื่อเด็กอายุ 2 - 3 ขวบ และหลังจากนั้นเป็นช่วงวัยเรียน คือ ประมาณ 5-6 ขวบ เป็นต้นไป

o เด็กที่ผู้ปกครองรู้สึกว่าสายตาไม่ปกติ ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม เช่น เมื่อเด็กมีอาการน้ำตาไหล ตาแดง มีจุดขาวอยู่ใน ตาดำ มีอาการตาเข ตาเหล่ หรือตาเล็กข้างใหญ่ข้าง เด็กกลุ่มนี้ถ้าพบความผิดปกติเมื่อไร ควรพาไปพบจักษุแพทย์ทันทีไม่ต้องรอให้เด็ก โต เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาก่อนลุกลาม และป้องกันการนำไปสู่โรคตาขี้เกียจ ซึ่งพบมากในวัยเด็ก โดยจะมีอาการเกิดจากตาข้างใด ข้างหนึ่งไม่มีการพัฒนาของสายตาสู่ระดับปกติ ทำให้เด็กมองเห็นภาพชัดเพียงข้างเดียว หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลา นานๆ เด็กจะใช้ตาเพียงข้างเดียวคือข้างที่ชัด ส่วนอีกข้างหนึ่งจะไม่ได้ใช้งานจนในที่สุดอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น เพราะสมอง ไม่ชินต่อการรับภาพจากตาข้างนั้นอีกต่อไป

o เด็กที่มีสายตาผิดปกติและต้องการตัดแว่นสายตาคู่แรก ควรตัดโดยจักษุแพทย์เพราะจะมีความแม่นยำสูงกว่า เนื่องจาก เด็กส่วนมากมักจะมีการเพ่งสายตาสูง ดังนั้น ถ้าขณะวัดสายตา เด็กจะเพ่งสายตามากๆ อาจทำให้ร้านแว่นวัดสายตาเด็กสั้นเกินไป ทำให้แว่นสายตาคู่แรกสั้นมากกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลให้คู่ต่อๆ ไปสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับการตรวจโดยจักษุแพทย์นั้น แพทย์จะใช้ยาหยอดป้องกันการเพ่งแล้วจึงวัด ซึ่งจะให้ผลที่แม่นยำมากขึ้น การวัดสายตาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องคำนึงถึงเป็น พิเศษ

กลุ่มที่สอง คือ ผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น

o ผู้ที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคตา ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตา โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ เคยได้รับการตรวจสุขภาพตามาก่อน เพราะอาจมีแนวโน้มเป็นโรคตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก และสายตายาว เป็นต้น

o ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีจอประสาทตาหลุดลอกหรือสายตาสั้นมากๆ ก็ควรพบจักษุแพทย์ เพราะมีโอกาสเกิดโรคตาได้ 2 ชนิด คือ โรคของจอประสาทตาหลุดลอกหรือเกิดรูฉีกขาดของจอประสาทตา และโรคต้อหิน ซึ่งผลของโรคตาทั้งสองนี้ถึงขั้นตาบอด ได้

o ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน * โดยเฉพาะต้อหินเฉียบพลัน เพราะโรคนี้ถ้าพบว่ามีคนใดคนหนึ่งในครอบ ครัวเป็นแล้ว ส่วนใหญ่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวมีโอกาสสูงที่จะเป็นต้อหินชนิดเดียวกัน โดยจักษุแพทย์สามารถวินิจฉัยผู้มีความ เสี่ยงสูงโดยการตรวจความดันของตา และตรวจเช็ครูระบายน้ำของลูกตาที่อาจแคบหรือปิด

o ผู้มีโรคประจำตัวทางกายบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดัน กลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้จักษุแพทย์ตรวจสุขภาพตา ควบคู่ไปด้วย เพราะจะมีโอกาสเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน ควรจะพบจักษุแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อตรวจรักษาและลดความรุนแรงเบาหวานขึ้นตา เพราะส่วนใหญ่ อาการของเบาหวานในปีแรกๆ จะยังไม่ขึ้นตาและไม่มีอาการ แสดง แต่จะเริ่มเป็นจุดเลือดจุดน้ำเหลืองข้างในตาโดยที่ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว ซึ่งถ้ารอให้มีอาการขุ่นมัว หรือ บวม แล้วค่อยมาพบจักษุ แพทย์ก็จะอันตรายมาก

กลุ่มสุดท้าย คือผู้ที่เป็นโรคตาอันตรายหรือมีอาการทางตาแล้ว กลุ่มนี้ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ก่อนที่อาการจะลุกลามจนยาก ต่อการรักษาให้หายเป็นปกติหรืออาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งโรคทางตาที่สำคัญ ได้แก่

o โรคต้อหิน* ควรให้จักษุแพทย์ตรวจรักษาตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง เพราะถ้าทิ้งไว้นานต้อหินจะทำให้จอประสาทตา เสียถาวรได้ ซึ่งหมายถึงการสูญเสียการมองเห็นนั่นเอง

o จอประสาทตาหลุดลอก **** ผู้ป่วยจะมีอาการสายตาพร่ามัว เหมือนมีตะกอนวุ้นลอยไปลอยมา หรือมีแสงแว้บๆ เหมือนมีอะไรมาบัง มองเห็นไม่ชัด ก็ควรให้จักษุแพทย์ตรวจรักษา เพราะอาการเหล่านี้ อาจเกิดจากเป็นรูที่จอประสาทตา ซึ่งถ้า ตรวจพบรูตั้งแต่เริ่มแรก จักษุแพทย์จะสามารถใช้เลเซอร์ยิงปิดรูไม่ให้ลุกลามกลายเป็นจอประสาทตาหลุดลอกได้

o เบาหวานขึ้นจอประสาทตา ผู้ที่รู้ว่าเป็นเบาหวานควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อป้องกันเบาหวานขึ้นตาด้วย เพราะแม้ว่าเบา หวานขึ้นจอประสาทตาจะรักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถลดความรุนแรงของการสูญเสียสายตาที่จะเกิดขึ้นได้

o โรคติดเชื้อ กลุ่มนี้ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ทันทีก่อนที่จะติดเชื้อรุนแรง ซึ่งอาจถึงขั้นที่เมื่อรักษาหายแล้วยังเป็นแผลเป็นที่ กระจกตาซึ่งการมองเห็นจะไม่กลับมาชัดเจนเหมือนเดิม โรคติดเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ โรคติดเชื้อจากตาแดง และการติดเชื้อจาก คอนแทคเลนส์ ผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรปฏิบัติตัวให้ถูกวิธี ดังนี้คือ 1. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอน 2. ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคใน การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ 3.อย่าปล่อยให้ตาแห้ง ควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น 4.หยุดใส่คอนแทคเลนส์ เมื่อมีตาแดงและต้องรีบพบจักษุแพทย์ทันที 5.ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ว่ายน้ำ เพราะจะเป็นแหล่งเก็บกักเชื้อโรค

o ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางตา ก็ควรพบจักษุแพทย์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากของมีคม ของเล่นเด็ก อุบัติเหตุทาง รถยนต์ หรืออุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น มุมกระดาษทิ่มตา กาวตราช้างเข้าตา หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการอ๊อค การเชื่อม โดย ไม่ใส่แว่นตาป้องกัน เพราะกลุ่มเหล่านี้เสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคตาอันตรายร้ายแรงตามมา

การดูแลรักษาสุขภาพดวงตา

ลองสำรวจตัวคุณเองสักนิดว่าเข้าข่ายกลุ่มใดหรือไม่ แต่ถ้าไม่แน่ใจลองปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนสายเกินแก้ และที่สำคัญต้อง ดูแลรักษาสุขภาพดวงตาทั่วไปของคุณด้วย คือ ต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงเพราะตาเป็นส่วนหนึ่งของร่ายกาย หากสุขภาพร่างกายดี สุขภาพตาก็จะดีด้วย ต้องดูแลทั้งเรื่องอาหาร โดยรับประทานอาหารให้ครบหมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม

โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักที่มีแคโรทีน เช่น แครอท ตำลึง ผลไม้ หรือจำพวกผักใบเขียว เพราะมีวิตามินที่ช่วยบำรุงสายตา

รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควรใช้แว่นตาป้องกันแสงแดด ลม โดยเฉพาะรังสีอุลตร้าไวโอเลต (ยูวี) ซึ่งเป็นสาเหตุของต้อลม ต้อเนื้อ และมีส่วนทำให้เกิดต้อกระจก และโรคของจอประสาทตาเสื่อมได้ด้วย ที่สำคัญควรมีการตรวจ เช็คสุขภาพตาประจำปีด้วย แม้จะไม่มีอาการ เพื่อป้องกันรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะสายเกินการณ์

บทสรุป "เมื่อไรควรมาพบจักษุแพทย์?"

วัยเด็ก

o เด็กที่มีสายตาปกติหรือไม่มีอาการ ผู้ปกครองควรพาไปพบจักษุแพทย์ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 6 เดือน

o เด็กที่ผู้ปกครองรู้สึกว่ามีสายตาไม่ปกติ ถ้าพบความผิดปกติเมื่อไร ต้องมาพบจักษุแพทย์ทันที เช่น น้ำตาไหล ตาแดง มีจุดขาวอยู่ในตาดำ ตาเข ตาเหล่ หรือตาเล็กข้างใหญ่ข้าง

o เด็กที่มีสายตาผิดปกติและต้องการตัดแว่นสายตาคู่แรก ควรให้จักษุแพทย์วัดสายตาเพราะจะมีความแม่นยำสูง

ผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงสูง

o ผู้ที่อยู่ในวัยเสี่ยงหรืออายุเกิน 40 ปี เพราะอาจมีแนวโน้มเป็นโรคตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก สายตายาว

o ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาหลุดลอกหรือมีสายตาสั้นมากๆ

o ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน

o ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดัน

ผู้ที่เป็นโรคตาอันตรายหรือมีอาการทางตาแล้ว

o ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อ ที่พบบ่อย เช่น โรคตาแดง และโรคติดเชื้อจากการใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น

o ผู้ที่เป็นโรคต้อหิน

o ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งจะมีอาการที่สังเกตได้เบื้องต้น คือ มีสายตาพร่ามัว เหมือนมีตะกอนวุ้น

ลอยไปลอยมา หรือมีแสงแว้บๆ เหมือนมีอะไรมาบัง มองเห็นไม่ชัด

o ผู้ที่เป็นเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

o ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางตา เช่น อุบัติเหตุจากของมีคม อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรืออุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น

มุมกระดาษทิ่มตา กาวตราช้าง เข้าตา หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการอ๊อค การเชื่อม โดยไม่ใส่แว่นตาป้องกัน

คำอธิบายเพิ่มเติม

1. *ต้อหิน อาการทางตาที่เกิดขึ้นจากความดันในลูกตาสูงเกินไปทำให้เส้นประสาทตาเสื่อมและมีผลกระทบกับการมองเห็น

2. **ต้อกระจกอาการทางตาที่เกิดขึ้นคือเลนส์ตาที่ใส่ขุ่นตัวลงทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดน้อยลงโดยมากจะเกิดจากอายุที่มากขึ้น

3. ***ต้อลม/ต้อเนื้อ อาการทางตาที่เกิดขึ้นคือเยื่อบุตาขาวหนาขึ้นและขยายตัวบนขอบของตาดำและสามารถขยายตัวมาบนตาดำได้

4. ****จอประสาทตา อาการทางตาที่เกิดขึ้นคือเนื้อเยื่อบุด้านหลังของดวงตาที่มีหน้าที่รับและส่งไปยังสมอง

ที่มาข้อมูล

:

พญ.กัลยาณี โรจนาภรณ์

จักษุแพทย์ โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน

โทร. 0-2258 0442

ข้อมูลเพิ่มเติม

:

บุษบา สุขบัติ

พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส

โทร. 0-2651 8989 ต่อ 222

e-mail : [email protected] จบ--

-ศน-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit