กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--พีซี แอนด์ ซี
ร.ร.ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก - 5 มี.ค. / นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ประธานบริษัท ซึบูราญ่า ไชโย จำกัด เปิดเผยถึง ชัยชนะในคดีลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน ซึ่งศาลชั้นต้น ณ ประเทศ ญี่ปุ่น ได้ตัดสินชี้ขาดให้เป็นผู้ได้สิทธิทางการค้าทั่วโลกของอุลตร้าแมนแต่เพียงผู้เดียว ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า "การตัดสินในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเรามีสิทธิทุกประการแต่เพียงผู้เดียวในการดำเนินการทางการค้ากับลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน และอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงเป็นการบอกถึงความชอบธรรมที่ควรจะเป็น ซึ่งศาลที่ ตัดสินกรณีพิพาทครั้งนี้เป็นศาลของประเทศคู่กรณี ดังนั้นจึงน่าจะบอกได้อย่างชัดเจนว่า กรณีพิพาทที่ยาวนานถึง 7 ปีนี้ ใครคือผู้ที่มีสิทธิในอุลตร้าแมนตัวจริง" นายบุญชัย บุญธรรมสามิสร ทนายความที่ปรึกษา เปิดเผยถึงการต่อสู้ที่ยาวนานในครั้งนี้ว่า "เวลา 7 ปีในทางศาลสำหรับคดีคดีหนึ่งอาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในกรณีพิพาทครั้งนี้ นับว่ายาวนาน แต่เพื่อปกป้องในสิทธิ์ที่ควรพึงได้อย่างถูกต้อง คุณสมโพธิ จึงต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด จนถึงวันนี้ วันที่จะประกาศได้อย่างภาคภูมิว่า เราชนะ ด้วยคำตัดสินที่สรุปได้จากคำพิพากษาของ ศาลแขวง โตเกียว ณ ประเทศญี่ปุ่นว่า "สัญญาจริง ตราประทับจริง" คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ได้สิทธิในการใช้ประโยชน์อุลตร้าแมนทั่วโลก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น" นายสมโพธิกล่าวตอกย้ำถึงความรู้สึกในครั้งนี้ว่า "สำหรับการต่อสู้ที่ยาวนาน บัดนี้เป็นเวลาที่ผมจะลุกขึ้นมาทำธุรกิจทางการค้าของผมบ้างแล้ว หลังจากที่พยายามต่อสู้ในศาลมาเป็นเวลากว่า 7 ปี เพื่อคง ศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทย ที่ถูกต่างชาติกล่าวหาว่าเป็นคนโกง ผมดีใจที่มีวันนี้ ภาคภูมิใจเป็นที่สุด ที่นสพ.ในญี่ปุ่นลงพาดหัวเกือบทุกฉบับว่า คนไทยชนะคดีลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน เป็นข่าวช็อกของคนญี่ปุ่น เพราะนับตั้งแต่วันที่ศาลตัดสินให้ผมชนะคดี เท่ากับลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนทั่วโลกเป็นของผม ของคนไทย ทั้งประเทศ ผลประโยชน์และมูลค่ามหาศาลอันเกิดจากลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน เป็นของคนไทยโดยสมบูรณ์แล้ว"
จุดเริ่มของชีวิตในการผันตัวเองเข้าสู่วงการ ของ นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย เริ่มด้วยการได้ทุน รัฐบาลไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีโอกาสไปศึกษาอยู่ในโรงถ่ายโตโฮ กับอาจารย์ เอยิ ซึบูราญ่า และร่วมสร้างสรรค์แคแร็คเตอร์อุลตร้าแมน ผลงานชิ้นแรกที่ลงทุนว่าจ้างให้บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด สร้างขึ้น คือ ภาพยนตร์เรื่อง "ยักษ์วัดแจ้งจัมโบ้เอ" เนื่องจากต้องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่น จำกัด ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักในขณะนั้น ส่วนผลงานที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดทำรายได้ถล่มทลายคือ "หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์" ออกฉายในประเทศญี่ปุ่นทำรายได้กว่า 70 ล้านบาท แต่ถูก นาย โนโบรุ ซึบูราญ่า ประธาน บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่น จำกัด ในสมัยนั้นแอบนำไปขายให้กับ บริษัท ชอว์บาร์เดอร์ ฮ่องกง และ บริษัทภาพยนตร์ไต้หวัน รับเงินไปกว่า 2 แสนเหรียญสหรัฐ โดยมิได้บอกความจริง แต่กลับแจ้งว่าขอยืมเงินไปก่อน แล้วจะใช้คืนภายใน 1 ปี
ส่งผลให้ บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ต้องทำสัญญาโอนสิทธิอุลตร้าแมนทั่วโลกแก่ นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย เนื่องจากไม่มีเงินชำระคืน ทั้งนี้สาเหตุที่เป็นกรณีพิพาทเกิดจาก นายสมโพธิ พบว่า บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ได้ละเมิดสิทธิของ นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ตามสัญญา โอนสิทธิ อุลตร้าแมนที่ได้ทำไว้ในครั้งนั้น แม้ว่าในขณะนั้น บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด จะออกจดหมายขอโทษ และยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าว แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังขอเจรจาเพื่อทำสัญญาฉบับใหม่แต่ก็ล้มเหลว เนื่องจาก บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลหลายประการ และเสนอเงื่อนไขสัญญาที่เอาเปรียบ โดยเสนอให้สิทธินายสมโพธิ แสงเดือนฉาย เพียง 5 ประเทศในอินโดจีน เท่านั้น (ลาว เขมร พม่า เวียดนาม ไทย) เมื่อเจรจาไม่ประสบผล การฟ้องร้องจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา เริ่มตั้งแต่ กรกฎาคม พ.ศ. 2540 บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ยื่นฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ที่ญี่ปุ่น ต่อมาในเดือนธันวาคม 2540 บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และแจ้งความเท็จ ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประเทศไทย
4 เมษายน พ.ศ. 2543 ศาลชั้นต้นพิพากษา ณ ประเทศไทย ตัดสินให้ นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ชนะคดีและมีสิทธิตามสัญญาทุกประการ และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ศาลแขวง โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินให้ นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย มีสิทธิตามสัญญาทุกประการ เช่นเดียวกัน
ห้วงเวลาที่ยาวนานของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ หากจะถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว โดยนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า "อุลตร้าแมนตัวจริง" เป็นผู้ชนะในคดีพิพาทครั้งนี้ ห้วงยามต่อจากนี้ไปคือ การสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่ได้รับสิทธิในการผลิตสินค้าอุลตร้าแมนในประเทศไทยของไชโยฯ และประกาศศักยภาพของผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในแคแร็คเตอร์อมตะอย่าง "อุลตร้าแมน" ทั่วโลกตัวจริง
โดย นายธานินทร์ ติรณสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไชโยโปรดักชั่นส์ จำกัด เปิดเผยถึงก้าวย่างต่อไปของสิทธิ "อุลตร้าแมน" ว่า "เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จของเราในครั้งนี้ ไชโย โปรดักชั่นส์ จะจัดการแสดงอุลตร้าแมนโชว์ใน 4 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ คือ โคราช หาดใหญ่ เชียงใหม่ และนครสวรรค์ โดยในงานจะมีการแสดงไลฟ์โชว์ เทคนิคพิเศษ ของอุลตร้าแมนตอนใหม่ที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน และมีเทศกาลเครื่องเล่นอุลตร้าคาร์นิวัลครั้งแรกในโลกบริเวณหน้างาน เพื่อให้เด็กๆ ทั่วประเทศได้สัมผัสฮีโร่ตัวจริง เสียงจริง หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากงาน ฮีโร่เฟสติวัล 2003 ในงานวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา อีกโครงการหนึ่งคือ โครงการภาพยนตร์สเปเชียลเอฟเฟ็ค "อุลตร้าแมนมิลเลนเนียม" ที่ทุกคนรอคอย ขณะนี้เราทุ่มทุนกว่า 40 ล้านบาทเพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนมิลเลน-เนียมนี้อย่างยิ่งใหญ่ คาดว่าจะลงโรงฉายทั่วประเทศได้ในต้นปีหน้า โครงการทั้งสองโครงการ จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถทำ อุลตร้าแมนให้คนไทยได้เป็นที่อิจฉาของชาติอื่นๆ ได้ ขอให้ทุกท่านช่วยกันสนับสนุนด้วยครับ"
ห้วงเวลาของการต่อสู้….เพื่อสิทธิ์ที่ถูกต้องและเป็นธรรม
กรณีพิพาทลิขสิทธิ์ "อุลตร้าแมน"
ของ คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย
- พ.ศ. 2505 (ค.ศ.1962) คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยทุนของ รัฐบาลไทย ธนาคารออมสิน ศึกษาอยู่ในโรงถ่ายโตโฮ กับอาจารย์ เอยิ ซึบูราญ่า และอาจารย์อากิระ คูโรซาวะ และได้สนิทสนมกับอาจารย์เอยิ จนเหมือนลูกของท่าน
- พ.ศ. 2508-2509 (ค.ศ.1965-1966) ภาพยนตร์อุลตร้าแมนถูกสร้างสรรค์ขึ้น
- พ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973) คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ออกเงินสร้างภาพยนตร์ "ยักษ์วัดแจ้งจัมโบ้เอ" โดยว่าจ้างบริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ ผลิตให้ เนื่องจาก คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ต้องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่น ที่กำลังประสบปัญหา
- พ.ศ. 2517 (ค.ศ.1974) คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ว่าจ้าง บริษัทเดิม สร้างภาพยนตร์เรื่อง "หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์" โดย คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย เป็นผู้เขียนบทเอง ถ่ายทำทั้งที่ประเทศไทย และญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จทำรายได้มหาศาล
- พ.ศ. 2518 (ค.ศ.1975) นาย โนโบรุ ซึบูราญ่า ประธาน บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่น ในสมัยนั้นแอบขายภาพยนตร์เรื่อง "หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์" ให้กับ บริษัท ชอว์บาร์เดอร์ ฮ่องกง และบริษัทภาพยนตร์ไต้หวัน รับเงินไปกว่า 2 แสนเหรียญสหรัฐ โดยแจ้งแก่คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ภายหลังจากนั้นว่าเป็นการขอยืมเงิน
- 4 มีนาคม พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) นายโนโบรุ ซึบูราญ่า ทำสัญญาโอนสิทธิลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนอย่างผูกขาดแต่ผู้เดียวทั่วโลก เป็นระยะเวลาตลอดไปแก่คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย เนื่องจากไม่มีเงินชำระหนี้คืน
- พ.ศ. 2522 (ค.ศ.1979) ภาพยนตร์เรื่อง "หนุมาน 7 ยอดมนุษย์" ออกฉายในประเทศญี่ปุ่น ได้เงินไปกว่า 70 ล้านบาท
- เมษายน พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ผลิตภาพยนตร์เรื่อง "หนุมานพบ11 ยอดมนุษย์" ออกฉายในประเทศไทย
- พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย จดแจ้งลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนแก่กรม ทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทย
- 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ออกจดหมาย ขอโทษแก่คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย และยอมรับสิทธิตามสัญญา พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) ภายหลังจากที่ คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย พบว่า บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชันส์ จำกัดได้ละเมิดสิทธิของคุณสมโพธิ ตามสัญญานั้นทั่วโลกมาเป็นเวลานาน
- พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อทำสัญญาฉบับใหม่ล้มเหลว เนื่องจาก บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ขาดความจริงใจและไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิของตนหลายประการ และเสนอเงื่อนไขสัญญาที่เอาเปรียบ โดยเสนอให้สิทธิ คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย เพียง 5 ประเทศ ในอินโดจีน เท่านั้น (คือลาว เขมร พม่า เวียดนาม และไทย)
- กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ.1997) บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ยื่นฟ้อง คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ที่ประเทศญี่ปุ่น
- ธันวาคม 2540 (ค.ศ.1997) บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ยื่นฟ้อง คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และแจ้งความเท็จ ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประเทศไทย
- 4 เมษายน พ.ศ. 2543 (ค.ศ.2000) ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ชนะคดีและมีสิทธิตามสัญญาทุกประการ โดยพิพากษาให้สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่คุณสมโพธิ และให้บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด หยุดการกระทำละเมิดสิทธิของคุณสมโพธิ และให้ชำระค่าเสียหายแก่คุณสมโพธิ เป็นเงิน 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ศาลฎีกา ประเทศไทยมีคำสั่ง 3 คำสั่ง ลงมาให้โจทก์ (บริษัท ซึบูราญ่าโปรดักชั่นส์ จำกัด) นำเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลฎีกามาวางต่อศาลเป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท นำเงินค่าเสียหายตามคำพิพากมาวางต่อศาลเป็นจำนวนเงิน 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปีอีก 2 ปี นับจากวันฟ้อง (พ.ศ.2540) ไปอีก 2 ปี และนำเงินประกันความเสียหายต่อคุณสมโพธิ มาวางต่อศาล เป็นจำนวนเงินเดือนละ 5,000,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน 120,000,000 บาท หากโจทก์ต้องการทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษา บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัดไม่ยอมนำเงินมาวางตามคำสั่งศาลฎีกา
- 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ศาลแขวงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินให้คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย มีสิทธิตามสัญญาทุกประการ เช่นเดียวกันกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ประเทศไทย เป็นการยืนยันความสมบูรณ์ของสิทธิอุลตร้าแมนของ คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย
ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ
อุมา พลอยบุตร์ โทร. 0 2691 6303 4--จบ--
-ศน-