มูลนิธิโรคข้อฯ จัดงานใหญ่ "โรคข้อสากลปี 2546" ปลูกจิตสำนึกให้ คนไทยป้องกันโรคไว้ ดีกว่าแก้

10 Sep 2003

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส

มูลนิธิโรคข้อ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะจัดงานใหญ่ประจำปี "วันโรคข้อสากล 2546" เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันโรคกระดูกและข้อ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อทุกสาขา จัดบรรยายให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้สนใจที่ไปร่วมงานในวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2546 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 12 โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เวลา 8.30 -16.00 น.

นพ. พงษ์ศักดิ์ วัฒนา ประธานมูลนิธิโรคข้อฯ กล่าวว่า "อาการปวดตามร่างกายเป็นอาการสำคัญและพบบ่อย โดยผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ประมาณ 1 ใน 3 คน จะมีอาการปวดเล็กๆ น้อยๆ จนบางรายมีอาการปวดมากจนถึงขั้นพิการและไม่สามารถทำงานได้ ถ้าประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน จะมีประชากรที่มีอาการปวดในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายถึง 20 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลทีเดียว โรคข้อเป็นสาเหตุของอาการปวดที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุด ตามสถิติมีผู้ป่วยเป็นโรคข้อชนิดใดชนิดหนึ่ง 1 คน ในประชากรทั่วไป 7 คน หากผู้ป่วยมีอาการปวดมาก จึงควรไปพบแพทย์ตามคลินิกหรือโรงพยาบาล" เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่รู้วิธีการรักษาและดูแลตนเองอย่างถูกต้องเกี่ยวกับโรคข้อ จึงทำให้สถิติของผู้ป่วยโรคข้อมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี"

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังระบุว่าโรคกระดูกและข้อเป็นโรคที่ทำให้ประชากรเกิดความพิการสูงสุดเป็นอันดับแรกของโลก ซึ่งโรคข้อที่พบบ่อยและเป็นปัญหามาก ได้แก่ โรคปวดหลัง โรคข้ออักเสบ โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกและข้อที่ได้รับบาดเจ็บ "คนไทยส่วนมากไม่เข้าใจ ไม่รู้วิธีการรักษาและดูแลตนเองอย่างถูกต้องเกี่ยวกับโรคข้อ จึงทำให้สถิติของผู้ป่วยโรคข้อมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้น มูลนิธิโรคข้อฯ จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการ การบรรยาย เรื่อง การบริหารร่างกายในคนปวดเข่า การพิชิตความอ้วนในคน ปวดข้อเข่า และทำไมต้องเปลี่ยนข้อเทียม นอกจากนี้ ยังมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ แต่ละสาขาอย่างครบถ้วนเป็นกลุ่มย่อย 5 ห้อง ได้แก่ โรคกระดุกพรุน โรคปวดเข่า โรคเก๊า โรคข้อเสื่อม และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพื่อเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคกระดูก และข้อ ทั้งในด้านการปฏิบัติตัวและการรักษาแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ในวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2546" น.พ. พงษ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ในประเทศไทย "วันโรคข้อสากล" นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "ทศวรรษโรคกระดูกและข้อ" โดยมีองค์การสหประชาชาติ และนานาชาติ 34 ประเทศ ให้การสนับสนุนเพื่อดำเนินกิจกรรมรณรงค์ ในปี พ.ศ. 2543 - 2553 โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ คือ ให้สังคมตระหนักถึงภาระที่เกิดจากโรคข้อ ร่วมกันให้กำลังใจในด้านการรักษาแก่ผู้ป่วยโรค ส่งเสริมการป้องกันและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการวิจัยในแง่ของการป้องกันและรักษาโรคอย่างลึกซึ้ง

มูลนิธิโรคข้อฯ ก่อตั้งโดยความร่วมมือของแพทย์อายุรศาสตร์โรคข้อ ศัลยแพทย์โรคกระดูก แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และแพทย์ศัลยกรรมทางมือ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจาก 7 องค์กร คือ กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย และชมรมศัลยแพทย์ทางมือแห่งประเทศไทย

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียด และสำรองที่นั่ง โทร 02 665 4621 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือที่เว็บไซต์ www.Thaiarthritis.org ขอเชิญสมัครเป็นสมาชิกมูลนิธิโรคข้อฯ ได้ในบริเวณงานดังกล่าว หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ป.ณ. 2513 กรุงเทพ 10500

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :

คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล

คุณกุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์

พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส

โทร. 0-2651-8989 ต่อ 330, 223

e-mail : [email protected]จบ--

-รก-