กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กลุ่มบริษัทซีดีจี
มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ ทีซีเอส จัดงานสัมมนาวิชาการ ยิ่งใหญ่ "ICT for Empowerment 2003" เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของ ICT ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน คาดมีผู้เข้าร่วมหนาแน่น
รศ.ดร.ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งเอื้ออำนวยทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาทางวิชาการ ICT for Empowerment 2003 ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการเปิดบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้านวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สู่สาธารณชน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ได้มีการพัฒนาด้าน ICT มาอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนด ICT เป็นวิสัยทัศน์ในการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ และความเป็นเลิศทางการบริหาร ICT จะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะสร้างโอกาสและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งการปรับองค์กรให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูง ตลอดจนการสร้างพันธมิตรทั้งด้านวิชาการและด้านธุรกิจอันจะเป็นการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับสากล
มหาวิทยาลัยมหิดลได้ใช้ ICT ในการพัฒนา IT Campus เพื่อก่อให้เกิดการลื่นไหลของสารสนเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น data, voice และ video ที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้าน ICT ได้แก่ เครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ โดยมีสายใยแก้วนำแสงเป็นโครงข่ายหลัก และอุปกรณ์ ATM มีความเร็ว 155 Mbps การเชื่อมต่อ Internet ความเร็วสูง สร้าง Intranet, Digital Library, Multimedia Center เพื่อสนับสนุนงานด้านการเรียนการสอน และการวิจัย สร้างระบบงานคอมพิวเตอร์เพื่องานนักศึกษา โปรแกรมการศึกษา การบริหารงานบุคคล การเงิน และการพัฒนา MIS DSS และ EIS เพื่อสร้างความเป็นเลิศในการบริหารมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีระบบรักษาความปลอดภัย (Security) ของทั้งเครือข่ายสื่อสาร ระบบปฏิบัติการ และระบบคลังข้อมูล เพื่อสร้างความมั่นคงของ IT Campus ในมหาวิทยาลัย
สำหรับการจัดสัมมนาวิชาการ ICT for Empowerment 2003 ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้นำเสนอผลงานที่เป็นความภูมิใจหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับรางวัล IT Innovation Awards 2003 จากคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นั่นคือ ผลงาน ระบบ Intra-Phone ที่โดดเด่นด้วยการออกแบบเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ในการเชื่อมต่อระบบตู้โทรศัพท์ (PBX) ให้วิ่งอยู่บนเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ ด้วยเทคนิค VoIP (Voice over IP) ทำให้ทุกหน่วยงานในต่างวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสามารถโทรศัพท์ถึงกันได้ โดยไม่ต้องตัดสายออกภายนอก ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ในปีแรกได้มากกว่า 20 % ผลงานนี้นับเป็นนวัตกรรมโดยฝีมือคนไทยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทุกองค์กร นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอระบบ Video Conference ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาเพื่อใช้งานการประชุม งานการเรียนการสอน ข้ามหน่วยงานข้ามวิทยาเขต ซึ่งสามารถจัดประชุมพร้อมกันได้มากกว่า 1 องค์ประชุม ล่าสุดยังได้นำมาใช้ในการสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกข้ามประเทศ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ไปยัง University of North Carolina สหรัฐอเมริกา
"แนวโน้มการพัฒนา ICT ในประเทศไทยจะสามารถทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง จีน หรือ อินเดีย ได้นั้น สิ่งสำคัญก็คือ เราจะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ซึ่งประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรในสายวิชาชีพนี้ อีก 50,000 คน ภายใน 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่เราสามารถผลิตได้เพียงปีละ 3,000 คน ดังนั้น ในฐานะสถาบันการศึกษา จะต้องเข้าไปมีบทบาทร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ" รศ.ดร.ศุภชัยกล่าว
ดังนั้น เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงภารกิจนี้ ประกอบกับมีประสบการณ์ด้านนี้มาช้านาน โดยได้เปิดหลักสูตรการสอนสาขา Computer Science ในระดับปริญญาตรีมาตั้งแต่ปี 2532 ระดับปริญญาโท ปี 2537 ปริญญาเอก นานาชาติ ในปี 2545 และเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและสร้างเสริมสมรรถนะด้านบุคลากร ICT ของประเทศอย่างจริงจัง ในปี 2546 นี้ มหาวิทยาลัยจึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี ICT นานาชาติ ขึ้น โดยรับนักศึกษารุ่นแรก 200 คน และคาดว่าจะขยายเป็น 600 คนต่อปีในโอกาสต่อไป
ทีซีเอสมุ่งมั่น สานฝันเทคโนโลยีสู่สังคม
นายสุเทพ อุ่นเมตตาจิต ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเครือข่ายสารสนเทศในประเทศไทย หนึ่งในกลุ่มบริษัทซีดีจี เปิดเผยถึง วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานสัมมนา ICT For Empowerment 2003 ว่า เนื่องจากปัจจุบันนี้เทคโนโลยีสารสนเทศถือเป็นเครื่องมือสำคัญ หรือหัวใจในการทำงานของหลายๆองค์กร ดังนั้นการบริหารงานต่างๆโดยผ่านทางเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
"จะบริหารอย่างไรให้การนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือได้งานที่มีคุณภาพสูงด้วยการลงทุนที่เหมาะสม คุ้มค่าแก่การลงทุน โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญด้วย รวมถึงการหลั่งไหลเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะทำการเลือกสรรผลิตภัณฑ์นั้นๆอย่างไร ให้เหมาะสมกับองค์กร" ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด กล่าว
บริษัท เดอะ คอมมูนิเคขั่น โซลูชั่น จำกัด ได้ตระหนักถึงหน้าที่สำคัญหน้าที่หนึ่งของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำทางด้านการวางระบบเครือข่ายสารสนเทศ คือการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ และการคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีๆ มาเผยแพร่ให้กับผู้ใช้ทุกท่านโดยไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะลูกค้าของบริษัทฯเท่านั้น
นายสุเทพยังกล่าวด้วยว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้กับผู้ที่มีความสนใจได้นำไปพัฒนาองค์กรต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนสังคมอีกทางหนึ่ง ซึ่งบริษัทฯได้ดำเนินการมาตลอดโดยผ่านกิจกรรมต่างๆอย่างสม่ำเสมอ
ไฮไลท์ของงาน เพียบด้วยเนื้อหาครอบคลุมทั้ง ERP, CRM, IT Resource Management และ Security
สำหรับการจัดสัมมนาทางวิชาการภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดล กับบริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด ในครั้งนี้ จะได้มีการนำเสนอเทคโนโลยี ที่ครอบคลุม ICT ทั้งหมด อาทิ ERP, CRM, IT Resource Management, และ Security
โดยจุดเด่นของงานฯ จะมีการอภิปรายเรื่อง ICT for Empowerment ซึ่งได้เรียนเชิญผู้บริหารทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน และนักวิชาการ มาเป็นผู้ร่วมอภิปรายเพื่อให้ผู้เข้าฟัง ได้รับทราบถึงแง่คิดและมุมมองทางด้าน ICT อย่าง
กว้างขวางหลายมุมมอง รวมทั้งได้นำเสนอเรื่อง " นวัตกรรมโดยฝีมือคนไทย" การนำเอา ICT มาพัฒนาเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับองค์กร และ การนำเสนอหัวข้อเรื่องที่ครอบคลุม ICT เอาไว้ทั้งหมด
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด ยังได้กล่าวถึง ความคาดหวังผลที่จะได้รับจากการสัมมนาครั้งนี้ว่า จะเผยแพร่ข้อมูล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อที่จะนำเอา ICT มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละองค์กร และคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด รวมทั้งคาดหวังที่จะนำเสนอผลงานการนำเอา ICT มาประยุกต์ จนกลายเป็น " นวัตกรรม " ทั้งที่ประเทศเราไม่ได้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ บริษัท TCS ยังคงมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องต่อไป ด้วยความพร้อมทางด้านความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญโดยตรง ของบุคลากรของบริษัทฯ และด้วยตระหนักในหน้าที่ของ " ผู้นำ" ทางด้านการวางระบบเทคโนโลยีเครือข่ายสารสนเทศ
สำหรับงานสัมมนา ICT for Empowerment 2003 จะมีขึ้น ในวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2546 เวลา 8.30 - 17.30 น. ณ ห้องประชุม N101 ตึกชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตพญาไท) โดยมีค่าใช้จ่ายตลอดงานในอัตราคนละ 600 บาท ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่ สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2247-0333 หรือที่ คุณจิตรฤดี บุญญา ฝ่ายการตลาด บริษัท TCS โทร. 0-2678-1478 ต่อ 3715
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณจรีย์วิบูล บุญชนะโกศล คุณสุรินทร์ทิพย์ เดชประยูรทรัพย์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทซีดีจี
โทร. 0-2678-0200 ต่อ 2997-9
e-mail :
[email protected]จบ--
-นห-