เทศกาลภาพยนตร์อิสระ FIRST FRAME FESTIVAL ครั้งที่ 2 "ก้าวแรกสำหรับผู้แรกก้าว"

14 Jan 2004

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--มูลนิธิญี่ปุ่น กรุงเทพฯ

เทศกาลภาพยนตร์อิสระ

FIRST FRAME FESTIVAL ครั้งที่ 2

"ก้าวแรกสำหรับผู้แรกก้าว"

Nostromo Group และมูลนิธิญี่ปุ่น กรุงเทพฯ เสนอ เทศกาลภาพยนตร์อิสระ FIRST FRAME FESTIVAL ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมใหญ่ มูลนิธิญี่ปุ่น กรุงเทพฯ ในวันเสาร์ที่ 24 และ อาทิตย์ ที่ 25 มกราคม 2547 โดยจะมีการฉายภาพยนตร์อิสระทั้งจากประเทศไทยและจากนานาประเทศตามตารางการฉาย เข้าชมได้ฟรี

พิธีเปิดของเทศกาลนี้จะมีขึ้นเวลา 13.00 น. ของวันเสาร์ที่ 24 มกราคม ด้วยการฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง "กรุงเทพฯ 306 องศา" ซึ่งเป็นการรวมนักทำหนังอิสระที่กำลังก้าวหน้า หรือที่มีชื่อเสียง เช่น คุณพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "คืนไร้เงา" หรือ คุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับหนังสั้นที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ผู้ซึ่งผลงานเรื่อง "Motorcycle" เคยได้ไปฉายใน Sundance Film Festival และ Clemant Ferrand Festival ที่ประเทศฝรั่งเศส มาแล้ว

นอกจากนั้นแล้ว มูลนิธิญี่ปุ่นยังได้จัดการเสวนาพิเศษในหัวข้อ "สถานการณ์ปัจจุบันของภาพยนตร์สารคดีในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น" โดยมีคุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิหนังไทย ผู้เคยได้ไปศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดีในประเทศญี่ปุ่น เธอจะมามาแบ่งปันประสบการณ์ที่เธอได้ในการเสวนาครั้งนี้ ร่วมกับผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ท่านจะได้เห็นภาพที่หาดูได้ยากของสารคดีญี่ปุ่นบางเรื่องในการเสวนาครั้งนี้ด้วย

จากการเป็นผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยในประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้สนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์สั้นและวิดีโอครั้งที่ 7 มูลนิธิญี่ปุ่น กรุงเทพฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า First Frame Festival ครั้งที่ 2 นี้ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่นักสร้างหนังอิสระในประเทศไทย ได้แสดงผลงานความคิดสร้างสรรฺค์ของตนสู่สาธารณะชน

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ มูลนิธิญี่ปุ่น กรุงเทพฯ คุณโยชิโอกะ หรือคุณอัมพุชินี โทร 0-2260-8560-4 หรือที่ Nostromo Group คุณภาณุ อารี 01- 832-5094 หรือคุณอนุตร ตอศิริกุล 01-319-7897

*Nostromo Group

เกิดจากการรวมตัวกันของนักทำหนังอิสระ ผู้สนใจภาพยนตร์อย่างจริงจัง ประกอบด้วย ภาณุ อารี (นักทำหนังสั้น นักเขียนบทความอิสระ) อนุตร ตอศิริกุล (นักทำหนังสั้นรองชนะเลิศเทศกาลภาพยนตร์สั้นปี 2003) และพัฒนะ จิระวงศ์ (นักทำหนังสั้นรางวัลชนะเลิศ รัตน์ เปสตันยี ปี 2001) โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างเวทีการฉายภาพยนตร์สั้นให้มีประสิทธิภาพขึ้น เป็นทั้งการตอบรับและสนับสนุนการเติบโตของวงการภาพยนตร์อิสระในประเทศไทย

ตารางการฉายภาพยนตร์ เทศกาล First Frame Festival ครั้งที่ 2

สถานที่ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น กรุงเทพฯ ชั้น 10 อาคารเสริมมิตร ถนนอโศก

โทรศัพท์ 0-2260-8560-4

วันที่ 24 มกราคม 2547

11:00 - 12:30 ฉายภาพยนตร์ชุดที่ 1

13:00 - 14:30 พิธีเปิดและการฉายภาพยนตร์ชุดพิเศษ "กรุงเทพฯ 360 องศา"

15:00 - 16:30 ฉายภาพยนตร์ชุดที่ 2

17:00 - 18:30 ฉายภาพยนตร์ชุดที่ 3

วันที่ 25 มกราคม 2547

11:00 - 12:30 ฉายภาพยนตร์ชุดที่ 4

13:00 - 14:30 ฉายภาพยนตร์ชุดที่ 5: การเสวนาพิเศษในหัวข้อ

"สถานการณ์ปัจจุบันของภาพยนตร์สารคดีในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น" โดย

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, ธนนท์ สัตตะจารุวงศ์ และธัญสก พันสิทธิวรกุล ดำเนินรายการโดย

ภาณุ อารี

15:00 - 16:30 ฉายภาพยนตร์ชุดที่ 6

17:00 - 18:30 ฉายภาพยนตร์ชุดที่ 7: พิธีปิด และฉายภาพยนตร์ปิดเทศกาล

เสวนาพิเศษหัวข้อ "สถานการณ์ปัจจุบันของภาพยนตร์สารคดีในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น"

ผู้เข้าร่วมการเสวนา

1) คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต

หลังจากจบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลิดาได้ทำงานเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ฟิล์มวิว ก่อนที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการก่อตั้งมูลนิธิหนังไทยในปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิหนังไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์อิสระไทยอย่างต่อเนื่อง จากการจัดประกวดภาพยนตร์สั้นที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว

2) ธนนท์ สัตตะจารุวงศ์

ธนนท์เป็นนักศึกษาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนแรกที่ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อวิชาการภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ผลงานสารคดีของเขาเรื่อง Short Journey ได้รับรางวัล Special Jury Prize จากการประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยามางาตะ ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2546 นอกจากนี้ ภาพยนตร์สั้นของเขาเรื่อง "โรค-ติด-ต่อ" ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมจากการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติปี พ.ศ.2543 ด้วย

3) ธัญสก พันสิทธิวรกุล

กำลังศึกษาอยู่ที่คณะครุศาสตร์ศิลปะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธัญสกได้รับการยอมรับว่าเป็นนักทำหนังสารคดีที่น่าจับตามองคนหนึ่งของประเทศไทย ผลงานของเขาเรื่อง Voodoo Girl และ Happy Berry ได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่งในต่างประเทศ นอกจากทำหนังแล้ว เขายังเป็นนักเขียนประจำให้กับนิตยสาร Movie Time อีกด้วย

4) ภาณุ อารี

ภาณุเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสาร Hamburger และ Bioscope นอกจากนี้เขายังได้ทำภาพยนตร์สั้นด้วย ผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Once Upon a Time เคยได้รับเลือกไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยามางาตะ ปี พ.ศ.2544 และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกงในปีเดียวกัน--จบ--

-รก-