อย. ปราบสถานที่ผลิตอาหารตกมาตรฐาน จีเอ็มพี ผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ตรา หมูโอชา

12 Nov 2003

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--อย.

อย.ชูนโยบาย คนไทยบริโภคอาหารปลอดภัย ประกาศ ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายจีเอ็มพีอาหาร ล่าสุด... ร่วมกับ สสจ.สมุทรปราการ นำทีมเฉพาะกิจตรวจสถานที่ผลิต กุนเชียง หมูยอ หมูหยอง ชื่อดังตราหมูโอชา ย่านสมุทรปราการ พบแสดงฉลากไม่ถูกต้อง สถานที่ผลิตและการผลิตไม่ผ่านตามเกณฑ์จีเอ็มพี ซึ่งจะถูกดำเนินตามกฎหมายทันที

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้นำระบบจีเอ็มพี หรือ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต มาบังคับใช้เป็นกฎหมายกับผลิตภัณฑ์อาหาร และหมดเวลาผ่อนผันไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลให้ผู้ผลิตอาหารทั้ง 54 ประเภท ทั้งที่เข้าข่ายโรงงานและไม่เข้าข่ายโรงงาน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจีเอ็มพีทุกราย โดยขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ อย. ติดตามตรวจสถานที่ผลิตอาหารที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์จีเอ็มพีอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคและดำเนินการเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ยังไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์จีเอ็มพี

สำหรับในวานนี้ (11 พฤศจิกายน 2546) น.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย น.พ.บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ได้นำทีมเฉพาะกิจของ อย. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เข้าตรวจสอบบริษัท พี.วาย.ฟู้ด จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 408 หมู่ 7 ซอยวิทยุการบิน ถนนสุขุมวิท ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตกุนเชียง หมูยอ หมูหยอง ตราหมูโอชา ส่งขายตามห้างสรรพสินค้า ตลาดสดทั่วประเทศ รวมทั้งส่งออกต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง จากการตรวจประเมินสถานที่ผลิตดังกล่าวตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์จีเอ็มพี ผลปรากฎไม่ผ่าน 5 หมวด ได้แก่ สถานที่ตั้งและอาคารผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษา และการทำความสะอาด รวมทั้งสุขลักษณะของคนงาน โดยมีรายการที่ต้องปรับปรุงแก้ไขที่สำคัญ 5 รายการ เช่น ไม่มีมาตรการป้องกันสัตว์แมลงและฝุ่นละออง พื้นโรงงานไม่เรียบ ทำความสะอาดยาก ขาดมาตรการควบคุมการผลิตที่ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่หมดอายุ ไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ และเวลาในกระบวนการฆ่าเชื้อ/ผ่านความร้อน เป็นต้น มีการผลิตระหว่างการซ่อมบำรุง/ก่อสร้าง และมีสิ่งของที่ไม่ใช้ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตวางปะปนในบริเวณการผลิต

ดังนั้น สถานที่ผลิตจึงไม่ผ่านตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี และได้ผลิตอาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ กุนเชียง หมูยอ โดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 49 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และจะนำเสนอคณะกรรมการอาหารเพื่อพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 60 วัน เนื่องจากหากปล่อยให้มีการผลิตต่อไป อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ยังพบการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด คือ ไม่มีเลขสารบบอาหาร บนฉลากจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และจากการเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น เพื่อหาสารบอแรกซ์ ปรากฎว่าไม่พบสารบอแรกซ์ในกุนเชียงและหมูยอ นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ หมูยอ หมูหยอง กุนเชียง ส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค เช่น สารบอแรกซ์ วัตถุกันเสีย ไนไตรท์ ไนเตรท สีและจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งหากพบว่าเข้าข่ายอาหารผิดมาตรฐานจะถูกปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือหากเข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้ผลิตอาหารให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายจีเอ็มพีอย่างเคร่งครัด และกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามเกณฑ์จีเอ็มพีทุกราย โดยประสานกับสำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด ให้เฝ้าระวังตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน อีกทั้งสร้างความมั่นใจกับต่างประเทศในการบริโภคอาหารไทยอีกด้วย--จบ--

-นท/รก-