ชายกลางคนพร่องฮอร์โมนหมดแรงขาดสมาธิหงุดหงิดง่าย

29 Sep 2004

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--เอ-วัน พลัส

ชมรมคุณภาพชีวิตวัยทองแนะชายวัยกลางคนรัปประทานอาหารถูกหลักเหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับเพียงพอ ป้องกันการพร่องฮอร์โมนซึ่งกระทบคุณภาพชีวิตมีผลต่อการตัดสินใจ หมดแรงไม่ทราบสาเหตุ ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ด้านหัวหน้าหน่วยสตรีวัยหมดระดู รพ.รามาฯเผยหญิงไทยวัยทอง 5 ล้านคนทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของการหมดประจำเดือน เหตุไม่กล้ารับประทานฮอร์โมนทดแทนเพราะกลัวมะเร็งเต้านม ย้ำฮอร์โทนทดแทนปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์

นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูติ-นรีแพทย์ ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง กล่าวว่า สตรีเมื่อหมดประจำเดือนนิยมเรียกว่า สตรีวัยทอง ขณะที่ผู้ชายวัยทอง มีความหมายถึงภาวะที่ร่างกายพร่องฮอร์โมนเพศชายคือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน มีกระทบด้านร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเกิดความหม่นหมองเมื่อเข้าสู่วัยทอง อย่าทุกข์ใจกับการเข้าวัยนี้ แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนทำให้คุณภาพชีวิตเลวลง แต่เมื่อเราเข้าใจสภาพที่เกิดขึ้น รู้วิธีป้องกันและรักษา คุณภาพชีวิตย่อมดีขึ้น ซึ่งชมรมคุณภาพชีวิตวัยทองซึ่งประกอบด้วยบุคลากรหลายสาขา ตั้งใจที่จะให้ข้อมูลเหล่านี้กับประชาชน ขจัดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการขาดข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น สตรีวัยทองบางคนไม่กล้ารับประทานฮอร์โมนทดแทนเพราะกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ทั้งที่ความจริงการรับฮอร์โมนทดแทนภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์มีความปลอดภัย

นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ชายวัยกลางคน อายุ 40 ปีขึ้นไป จะนอนหลับยาก ตื่นง่าย ซึ่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง โดยฮอร์โมนเพศชายจะสร้างขณะนอนหลับตอนกลางคืน เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปร่างกายจะเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย คือ ฮอร์โมนลดลงแต่ไม่ถึงกับขาด ยิ่งปัจจุบันผู้ชายทำงานหนัก พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารไม่ถูกส่วนยิ่งกระตุ้นให้พร่องฮอร์โมนเร็วขึ้น บางรายแค่อายุ 40 ปีก็พบการพร่องของฮอร์โมนแล้ว แสดงอาการทางร่างกาย จิตใจ ระบบสมอง ระบบความจำ ผิวพรรณ

“ชายวัยกลางคนจะรู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงอย่างไม่มีเหตุผล หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ กล้ามเนื้อไม่ค่อยมีแรง ทำงานไม่ดี ความรู้สึกนึกคิดทางด้านเพศลดลงนำไปสู่ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แพทย์จะมีแบบทดสอบประเมินภาวะพร่องฮอร์โมน ทั้งนี้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยกระตุ้นการสร้างโกรท ฮอร์โมน ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต ฮอร์โมนแห่งความเป็นหนุ่มเป็นสาว การเข้านอนแต่หัวค่ำ กินอาหารครบหมวดหมู่ชะลอการ พร่องฮอร์โมน หากมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายมาก ๆ แพทย์จะพิจารณาเสริมเสริมฮอร์โมนเพศชายให้ ไม่ได้หมายความว่า ชายวัยกลางคนทุกคนต้องรับฮอร์โมน” นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าว

ด้าน พญ.มยุรี จิรภิญโญ หัวหน้าหน่วยสตรีวัยหมดระดู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ประชากรสตรีไทยที่อยู่ในกลุ่มวัยหมดประจำเดือนหรือที่เรียกว่า วัยทอง คือ อายุตั้งแต่ 49 ปีขึ้นไป มีประมาณ 5 ล้านคน แต่มีสตรีที่มารับการตรวจรักษาผลข้างเคียงจากการหมดประจำเดือนซึ่งร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จากการสำรวจมีไม่ถึงร้อยละ 3 ของสตรีทั้งหมด เนื่องจากสตรีวัยทองส่วนมากยังคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของการหมดประจำเดือน ที่สำคัญยังมีความกลัวว่า ฮอร์โมนทดแทนจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม ทำให้สตรีวัยทองต้องทนทุกข์ทรมานกับภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมน เช่น ด้านร่างกายและระบบไหลเวียน มีอาการ ใจสั่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท อ่อนเพลีย สูญเสียกล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกบาง เตี้ยลง หลังค่อม กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ไอ จามเบาๆมีปัสสาวะเล็ด ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ ช่องคลอดแห้ง แสบคัน เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ด้านจิตใจ เช่น วิตกกังวล หวาดกลัวโดยไม่มีสาเหตุ ขาดสมาธิ ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ด้านอารมณ์ สตรีนั้นอาจมีปัญหาทางเพศ ในด้านขาดความสนใจทางเพศ อารมณ์ทางเพศน้อยลง ทั้งหลายเหล่านี้สตรีแต่ละคนจะมีมากบ้าง น้อยบ้างในแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป ซึ่งแพทย์สามารถช่วยค้นหาและวินิจฉัยว่าควรได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนหรือไม่ และควรได้รับฮอร์โมนทดแทนชนิดใดที่เหมาะสมกับท่าน ทั้งนี้ในรายที่มีอาการเหมือนกัน อาจได้รับยาคนละชนิดก็ได้ เนื่องจากสตรีแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกันนั้นเอง

จากการการวิจัยและประสบการณ์ของแพทย์พบว่าสังคมและคนรอบข้างเช่น เพื่อน ญาติ หรือ คนในครอบครัวของสตรีวัยทอง เป็นกลุ่มที่มีผลต่อคนไข้ในการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัย จ่ายยาแล้ว พอกลับไปถึงบ้านหรือพบเพื่อน ก็ได้รับความหวังดีที่จะให้หยุดการใช้ยา เพราะความกลัวต่อผลร้ายของฮอร์โมน โดยเฉพาะเรื่องมะเร็งเต้านม

พญ.มยุรี กล่าวว่า การมารักษาที่คลินิกสตรีวัยทอง ไม่จำเป็นว่าสตรีวัยทองทุกคนจะต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน เนื่องจากแพทย์จะวินิจฉัยอาการด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ระบบสืบพันธุ์เพื่อประเมินว่าจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนหรือไม่ และให้คำแนะนำในการปฎิบัติตนเพื่อให้สุขภาพของสตรีหลังหมดประจำเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ทั้งนี้ ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง และบริษัทออร์กานอน ประเทศไทย จำกัด จัดสัมมนาเรื่อง คุณภาพชีวิตวัยทอง ที่ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โรงพยาบาลราธิบดี วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม เวลา 13.00-17.00 น.ผู้สนใจขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ชมรมพัฒนาคุณภาพชีวิตวัยทอง โทร.02-656-7955 ต่อ 201

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

อัจจิมาพร (นก)

โทร. 01-403-8029

บริษัท เอ-วัน พลัส จำกัด--จบ--

--อินโฟเควสท์ (นท)--