สส.จัดทำแผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำปากพนัง

08 Oct 2004

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสุวัช สิงหพันธุ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมฯได้ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 จ.สุราษฎร์ธานี และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครศรีธรรมราช จัดทำแผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง ประจำปี 2548

โดยในแผนนี้ได้กำหนดกรอบการปฏิบัติงานของเครือข่ายคนรักษ์ลุ่มน้ำปากพนังอย่างมีส่วนร่วม ประจำปี 2548 ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประสานความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเครือข่าย องค์กร ชุมชน ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำปากพนังตามแผนปฏิบัติงาน

“ในการจัดทำแผนนี้ นอกจากจะมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ชมรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง หน่วยงานปกครองท้องถิ่น นายอำเภอจากอำเภอต่างๆ ในพื้นที่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และแกนนำชุมชนในอำเภอเหล่านั้น รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ รวมประมาณ 200 คนได้ร่วมกันจัดทำแผนฯ นี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้แผนปฏิบัติการดังกล่าวสามารถครอบคลุมการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยง และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ”

สำหรับการดำเนินงานที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในระหว่างปี 2545-2549 ตามแผนรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการรักษาสภาพแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง ภายใต้แผนพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ในปี 2547 กรมฯ ได้ดำเนินการในหลายเรื่อง อาทิ การจัดเวทีประชุมเครือข่ายแกนนำองค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสานต่อถึงแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนังให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยจำแนกพื้นที่การอนุรักษ์และฟื้นฟูฯออกเป็น 4 พื้นที่ตามสภาพภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพ ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ป่าพรุ พื้นที่ราบ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำกรอบปฏิบัติการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูตามแนวทางที่ร่วมกันกำหนดใน 4 พื้นที่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ และเสริมสร้างสมรรถนะความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และท้องถิ่น ตลอดจนใช้เป็นต้นแบบการเรียนรู้จากชุมชนสู่ชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน

ซึ่งผลจากการดำเนินงานได้จุดประกายความคิดให้ชุมชนย้อนกับมาใช้วิถีการผลิตในอดีตที่ใช้ธรรมชาติเกื้อกูลกัน ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี หันมาปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพดินด้วยการปลูกพืชบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภาพทดแทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช พัฒนาการผลิตการเกษตรจากเศรษฐกิจพอเพียงสู่เศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนได้ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมแรงของชาวบ้านในชุมชน ในการเพิ่มพื้นที่ป่าพรุโดยสามารถปลูกไม้ท้องถิ่นได้เป็นจำนวน 10,000 ต้น ในพื้นที่ 80 ไร่ นอกจากนี้ยังได้เกิด “ชมรมคนรักษ์พรุ” ที่รวมตัวกันเพื่อเป็นพลังชุมชนในการฟื้นฟูป่าพรุชุมชนอีกด้วย

การดำเนินงานโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ทั้งในพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าพรุ พื้นที่ราบ ไร่นาสวนผสม และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ในรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมกำหนด ร่วมวางแผนการแก้ไข ร่วมดำเนินการ ร่วมตัดสินใจและติดตามผล นับว่าเป็นต้นแบบการสร้างกระบวนการเรียนรู้ จิตสำนึก ทักษะ และสร้างความเป็นเจ้าของให้ชุมชนรู้สึก “รักและหวงแหน” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังด้วยพลังชุมชนได้เป็นอย่างดี

ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและเผยแพร่

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

49 พระราม 6 ซอย 30 ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ 10400

http://www.deqp.go.th.

โทรศัพท์/โทรสาร: 0-2298-5852-3--จบ--

--อินโฟเควสท์ (นท)--