10 ปีมูลนิธิช้าง...ผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ช้างไทย

06 Oct 2004

กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสุวัช สิงหพันธุ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 10 ปี มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “ทศวรรษแห่งผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ช้างไทย มองไปในทศวรรษหน้า” ว่า ช้างเป็นสัตว์สำคัญ และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต หากแต่ว่าปัจจุบันสถานการณ์ของช้างในประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤต จำนวนช้างลดปริมาณลงเหลือเพียงประมาณ 5,000 ตัวทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหากับราษฎรในเรื่องการบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม ปัญหาการใช้งานที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนปัญหาเรื่องการค้าช้างที่ผิดกฎหมาย

ดังนั้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการสร้างจิตสำนึกในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธช้างแห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นหน่วยงานเอกชนแห่งแรกที่บุกเบิกการอนุรักษ์ช้างอย่างจริงจังภายใต้หลักวิชาการ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ช้างให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการร่วมเผยแพร่ความรู้ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึก และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับช้างแก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้สถานการณ์ช้างไทยคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ด้านนายสุวิทย์ ยอดมณี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงผลงานในรอบ 10 ปี ของมูลนิธิว่า มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าคนไทยที่ “รักช้าง สงสารช้าง และอยากจะช่วยช้าง” นั้นน่าจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก หากแต่ยังไม่ทราบถึงปัญหาและหนทางที่จะช่วยช้าง ดังนั้น จึงได้มีการก่อตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดปัญหา และวิธีการช่วยเหลือ ด้วยการแสวงความร่วมมือจากคนทั่วไปที่มีความรักและต้องการช่วยช้าง โดยใช้ชื่อว่า มูลนิธิคนรักช้างก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย

“ในวาระครบรอบ 10ปีแห่งการก่อตั้งนี้ ทางมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมพิเศษขึ้นภายใต้ชื่อ ทศวรรษแห่งผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ช้างไทย ... มองไปในทศวรรษหน้า โดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ผลงานที่ผ่านมาของมูลนิธิ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ช้างอย่างมีทิศทางและแบบแผนต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ตลอดจนเสริมสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป”

สำหรับกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้มีทั้งหมด 3 กิจกรรมหลัก คือ โครงการเสริมโป่งช้างและสัตว์ป่า ครั้งที่ 12 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 ตุลาคม 2547 ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งโครงการนี้เป็นการสร้างแหล่งอาหารเสริมให้สัตว์ป่า เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้ตามธรรมชาติอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนกิจกรรมที่ 2 คือ

โครงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์อนุรักษ์ช้างแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทการอนุรักษ์ช้างแห่งชาติ (พ.ศ.2546-2555) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับแต่ละยุทธศาสตร์ของการอนุรักษ์ช้างไทยที่สำคัญอย่างน้อย 4 ยุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการกำกับนโยบายช้างแห่งชาติ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชนเกี่ยวกับช้าง และด้านสิ่งแวดล้อม ฯ ประมาณ 100 คน การประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ณห้องประชุมใหญ่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมที่ 3 คือ การสัมมนาวิชาการ “ชีววิทยาและการอนุรักษ์ช้างในประเทศไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2547 ที่คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“กิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีนี้ ทางมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยหวังว่า จะได้เผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนได้รับทราบถึงการดำเนินงานอนุรักษ์ช้างที่ได้ทำมากว่า 10 ปี อันเป็นการแสดงถึงความตั้งใจจริงในการทำงานของมูลนิธิ นอกจากนี้ยังจะเป็นการทบทวนผลงานและหาแนวทางปฏิบัติต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของช้างไทย” ดร.สุวิทย์ กล่าวสรุป

“เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ช้างในประเทศไทยทั้งช้างป่าและช้างบ้านมีจำนวนประมาณ 5,000 เชือก/ตัว แต่ปัจจุบันช้างป่าเหลือประมาณ 1,800 เชือก ช้างบ้านเหลือประมาณ 3,000 ตัว หรือเฉลี่ยรวมประมาณ 4,300 ตัว ลดลงประมาณ 700 เชือก/ตัว ซึ่งปัญหาการลดลงของปริมาณช้างป่าคือ การที่มนุษย์เข้าไปใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำมาหากิน

ดังนั้นมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยจึงมีแนวคิดที่จะทำอย่างไรให้ช้างอยู่ร่วมกับคนได้โดยไม่เกิดปัญหา จึงคิดทำโครงการช้างลาดตระเวนป่า สามารถทำให้ช้างมีงานทำ โดยการเข้าไปลาดตระเวนในป่า จนสามารถตรวจพบไม้เถื่อนได้กลางป่า แต่ทั้งนี้การดำเนินงานของช้างคงไม่สามารถดำเนินการนำจับผู้กระทำความผิดได้ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยให้ช้างลาดตระเวนป่าแล้วจำนวน 8 คู่” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ด้านนายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตว์แพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง กองวังที่ประทับ สวนจิตรลดา กล่าวว่าที่ผ่านมาสถาบันคชบาล และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันร่างพ.ร.บ.สัตว์ประจำชาติ เพื่อขอแก้ไขพ.ร.บ.สัตว์พาหนะประจำปี 2482 ที่ว่าช้างที่ย่างเข้าปีที่ 8 ให้นำมาทำตั๋วรูปพรรณช้าง (หรือการขึ้นทะเบียนช้าง) เปลี่ยนมาเป็นเมื่อช้างเกิดภายใน 30 วันให้นำมาทำตั๋วรูปพรรณช้างได้ทันที เพื่อป้องกันการสวมสิทธิระหว่างช้างป่าและช้างบ้าน

ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

49 พระราม 6 ซอย 30 ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ 10400

http://www.deqp.go.th.

โทรศัพท์/โทรสาร: 0-2298-5852-3--จบ--

--อินโฟเควสท์ (นท)--