ออโต้อัลลายแอนซ์เบียดแชมป์เก่า ก้าวขึ้นอันดับ 1 ผู้ส่งออกรถยนต์ไทย

18 May 2005

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--โอกิววี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์

ออโต้อัลลายแอนซ์เป็นผู้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) อันดับ 1 ในไตรมาสแรกปี 2548

ออโต้อัลลายแอนซ์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “Center of Excellence for Quality” ของฟอร์ด โดยเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ ฟอร์ดเรนเจอร์ มาสด้าไฟเตอร์ และฟอร์ดเอเวอเรสต์ ไปยัง 130 ประเทศทั่วโลก

AAT จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยกลายเป็น “ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย” ตามนโยบายรัฐบาล

ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (AAT) ฉลองความสำเร็จในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) อันดับ 1 ของไทยในไตรมาสแรกของปี 2548 โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มร. ราล์ฟ บอยซ์ ร่วมฉลองความสำเร็จที่โรงงาน จังหวัดระยอง

สถิติการส่งออกรถยนต์ที่จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า จำนวนรถยนต์สำเร็จรูปที่ส่งออกจากโรงงาน AAT ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2548 มีจำนวนสูงสุด 19,388 คัน หรือคิดเป็น 22.29% ของปริมาณรถยนต์ส่งออกรวมของประเทศซึ่งมีมูลค่ารวม 8.05 พันล้านบาท โดย โรงงาน AAT มียอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 32% หรือเพิ่มขึ้น 4,724 คัน จาก 14,664 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในไตรมาสแรกของปีนี้ ชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูป CKD ที่ส่งออกมีจำนวน 10,060 คัน เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 2.21 พันล้านบาท ทำให้มูลค่ารวมการส่งออกรถยนต์ของ AAT คิดเป็น 1.026 หมื่นล้านบาท

มร. ยูจิ นากามิเน ประธานบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความสำเร็จของเราเหนือคู่แข่งในครั้งนี้ ทำให้เรากลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของประเทศ ถือเป็นความสำเร็จที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพนักงานทุกคนของเราควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ AAT นับเป็นความสำเร็จจากการร่วมทุนระหว่างฟอร์ดและมาสด้า และได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั่วโลกในฐานะ Center of Excellence for Quality

“นอกจากความสำเร็จในการส่งออกแล้ว AAT ยังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการสร้างงาน การส่งเสริมธุรกิจของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และช่วยทำให้ดุลการค้าของประเทศแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถและศักยภาพของเราในประเทศไทย AAT มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถสนับสนุนและช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็น “ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย” ตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายไว้ได้อย่างแน่นอน” มร. นากามิเนกล่าว

ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของ AAT ในไตรมาสแรก เป็นผลมาจากการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ฟอร์ดเรนเจอร์ 4x2 ไฮไรเดอร์ แอคทีฟ และ ฟอร์ดเรนเจอร์ 4x4 ออโตเมติก ในปี 2547 ยอดการผลิตรวมทั้งปีของโรงงาน AAT สูงถึง 139,371 คัน แบ่งเป็น รถยนต์สำเร็จรูป 106,191 คัน และชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูป CKD จำนวน 33,180 คัน ในจำนวนรถยนต์สำเร็จรูปทั้งหมดที่ AAT ผลิตนั้นมากกว่า 70% เป็นรถที่ผลิตเพื่อส่งออก ในขณะที่ 100% เป็นชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูป CKD ที่ผลิตเพื่อการส่งออกทั้งหมด

AAT ส่งออกรถกระบะฟอร์ดเรนเจอร์ และมาสด้าไฟเตอร์ ไปยัง 130 กว่าประเทศทั่วโลกทั้งในยุโรป อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดกลาง 7 ที่นั่ง ฟอร์ดเอเวอเรสต์ เพื่อส่งออกไปยัง 50 กว่าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศแถบแปซิฟิกใต้

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน AAT ผลิตรถยนต์แล้วกว่า 450,000 คัน ซึ่งสร้างรายได้และช่วยให้ดุลการค้าของไทยแข็งแกร่งมากขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออก มากกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน AAT มีซัพพลายเออร์กว่า 100 รายที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานแห่งนี้ โดย AAT ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศถึง 80% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การดำเนินการผลิตของ AAT ยังช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยในการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังต่างประเทศอีกด้วย คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี นับเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

ปัจจุบัน AAT มีกำลังการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป 120,000 คันและชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูป CKD 35,000 คันต่อปี โดยผลิต 2 กะ ด้วยจำนวนพนักงาน 2,700 คน ซึ่งมีทั้งวิศวกร พนักงานและช่างผู้มีความชำนาญ AAT มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม และความปลอดภัยในการทำงาน

ด้วยตระหนักถึงการขยายตัวของตลาด ขยายกิจกรรมและกำลังการผลิต มร. บิล ฟอร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ได้ประกาศเพิ่มลงทุนอีก 2.1 หมื่นล้านบาท (500 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในโรงงานแห่งนี้ เพื่อการพัฒนายานยนต์ใหม่ และเพิ่มกำลังการผลิต โดยที่ มร. ฟอร์ด ได้ประกาศเพิ่มเงินลงทุนดังกล่าวในช่วงที่เดินทางมาเยี่ยมโรงงานแห่งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ทั้งนี้แผนการขยายธุรกิจดังกล่าวจะดำเนินการทีละช่วงตามแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเป็นการลงทุนในด้านการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องจักร เครื่องมือในโรงงาน รวมทั้งด้านวิศวกรรม รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 200,000 คัน (ทั้งรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูป CKD) จาก 135,000 คันในปัจจุบัน

มร. จอห์น ฟิลิซ ประธาน ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า “การขยายโรงงานโดยแบ่งเป็นเฟสนั้น เพื่อให้ AAT สามารถที่จะรองรับความต้องการฟอร์ด เรนเจอร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและตะวันออกกลาง และสำหรับในประเทศไทยนั้น ยอดขายฟอร์ดเรนเจอร์ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้ฉลองทำยอดขายรายเดือนเรนเจอร์สูงสุดเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นมาก

“ในโอกาสนี้ ฟอร์ด ประเทศไทย ขอแสดงความยินดีกับ มร. นากามิเน และพนักงานทั้งหมดของ AAT ที่ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ ยานยนต์ที่มีคุณภาพสูงซึ่งผลิตที่ AAT ประกอบกับการให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าและบริการ ทำให้ฟอร์ดมั่นใจว่าเราจะมียอดขายและสามารถเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่ทำให้เราได้รับรางวัลความพึงพอใจของลูกค้าจากสถาบันเจ.ดี. เพาเวอร์ มาแล้วในปี 2547”

ติดต่อ:

นที ศาสตร์ยังกุล

โทร. 0 2 686 4000 ต่อ 4635

โทรสาร 0 2 264 1006--จบ--