ข้อมูลและแนวความคิด งานสถาปนิก'49

18 Oct 2005

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--เจ ดับบลิว ที พับบลิค รีเลชั่นส์

ความเป็นมา

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานสถาปนิกขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลงานและเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมและนวัตกรรมเกี่ยวกับวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 ใช้ชื่องานว่ "สถาปนิก'29" และต่อมาได้มีการจัดงานสถาปนิกขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี พ.ศ. 2533) จนถึงปัจจุบัน อันถือเป็นประเพณีสำคัญของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งงานดังกล่าวได้จัดขึ้นไปแล้ว 19 ครั้งและการจัดงานสถาปนิก'49 นับเป็นครั้งที่ 20 การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นงานแสดงนวตกรรมและเทคโนโลยีด้านการออกแบบ ก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ งานสถาปนิก'49 จะจัดขึ้นในวันที่ 2-7 พฤษภาคม 2549 ณ ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

วัตถุประสงค์

1. เผยแพร่และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนบทบาทของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากวิชาชีพสถาปนิกได้อย่างถูกต้อง

2. เผยแพร่และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสาขาต่างๆ

3. เสริมสร้างความร่วมมือร่วมใจและความเข้าใจอันดีระหว่างสถาปนิก นิสิต นักศึกษา รวมทั้งมวลสมาชิกในวิชาชีพเดียวกันและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

4. เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการ วิชาชีพ รวมทั้งการแสดงสินค้า วัสดุ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการออกแบบ ก่อสร้าง ตกแต่งและบำรุงรักษาอาคารสถานที่

5. เผยแพร่ผลงานของสถาปนิก นิสิตนักศึกษา ตลอดจน วิชาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

6. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างกับสถาปนิก วิศวกร มัณฑนากร และ ผู้เกี่ยวข้องในวิชาชีพ

7. จัดสัมมนาเชิงวิชาการและวิชาชีพสถาปัตยกรรมในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นของสถาปนิก ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญในสาขางานที่เกี่ยวข้อง

กำหนดเวลาจัดงานและสถานที่

วันพฤหัสบดีที่ 2 ถึง วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2549 ณ ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพค เมืองธานี บริเวณอาคารชาเลนเจอร์ 1-3

ที่มาของแนวคิด

ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้โลกของเรากำลังประสบกับปัญหาหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำท่วม ไฟป่า การเกิดแผ่นดินไหว ความแห้งแล้ง พายุ เป็นต้น ซึ่งอยู่ในสภาวะที่อาจจะเรียกได้ว่า ถึงขั้นวิกฤติและอันตรายแทบทุกด้าน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผลการกระทำของมนุษย์แทบทั้งสิ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่วิปริตผิดธรรมดา ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ค่อนข้างรุนแรง ที่ก่อให้เกิดหายนะต่อมนุษย์และบ้านเมือง เรียกได้ว่า มากมายและเกินกว่าที่มนุษย์จะป้องกัน และปกป้องตัวเองและทรัพย์สิน ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ที่เข้ามา จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า "ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะต้องหันมาดูแลและเอาใจใส่กัน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์โลก และสิ่งแวดล้อม เพราะบางอย่างก็ยากที่จะเยียวยาให้กลับมาดีได้ดังเดิม

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสามารถเริ่มต้นช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็อาจจะช่วยต่อชีวิตของโลกใบนี้ให้ยาวขึ้น อีกทั้งกระแสการเปิดเสรีทางการค้าและการรับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเดิม ล้วนเป็นหัวข้อที่ต้องนำมาคิดพิจารณา หาทางเดินที่ดีที่สุด อันเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า "ก้าวอย่างสมดุล" ซึ่งต้องการให้สถาปนิกไทยตระหนักถึงการออกแบบที่ดี โดยคำนึงถึงปัจจัยเรื่อง การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในขณะเดียวกันกับการเปิดใจพิจารณาแนวความคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมพร้อมไปกับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความมีมโนธรรม ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ทั้งกายและจิตใจ บวกกับประสิทธิภาพความรู้ และความสามารถของสถาปนิก คงเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญของสถาปนิก ที่จะต่อชีวิตของโลกใบนี้ให้ยืนยาวและน่ารื่นรมย์ สวยงามดั่งเช่นในอดีตที่ผ่านมา

"ก้าวอย่างสมดุล" มีความหมายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

  • การเปิดรับฟังและพิจารณา แนวความคิด และวิธีการใหม่ๆ
  • การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
  • ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการก่อสร้าง
  • ประสิทธิภาพ จรรยาบรรณ และมโนธรรมของสถาปนิก--จบ--