“บดินทรเดชา” คว้าถ้วยพระราชทานฯ ยามาฮ่าลูกทุ่งคอนเทสต์ ครั้งที่ 5

18 Aug 2005

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการดีๆ ที่ใช้เวลายาวนานกว่า 3 เดือนกับ “การประกวดวงดนตรีเยาวชนยามาฮ่าลูกทุ่งคอนเทสต์ ครั้งที่ 5” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้คอนเซ็ปท์ “คนรุ่นใหม่...หัวใจลูกทุ่ง” ที่ได้รับการสนับสนุนหลักจาก บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และ บริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ บีอีซี เทโร ฮอลล์ สวนลุมไนท์บาร์ซาร์

ซึ่งหลังจากตระเวนชิงชัยไปทั่วประเทศ ในที่สุดก็ได้ 11 วงดนตรีลูกทุ่งที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถทั้งร้อง ทั้งเต้น ซึ่งได้แก่ 1. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จ.กรุงเทพ 2. โรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.กรุงเทพ 3. โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี 4. โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 5. โรงเรียนนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น 6. โรงเรียนมัธยมด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 7. โรงเรียนบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา 8. โรงเรียนวัฒนานคร จ.สระแก้ว 9. โรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ จ.สุโขทัย 10. โรงเรียนสวนศรีวิทยา จ.ชุมพร และ 11. โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิน จ.สงขลา

โดยในวันที่ 12 สิงหาคม ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของการแข่งขันครั้งนี้ เพราะเป็นการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเพื่อชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ รถยนต์นิสสัน ฟรอนเทียร์ ดับเบิ้ลแค็บ ซึ่งการแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น เพราะแต่ละทีมต่างงัดกลเม็ดเด็ดมาโชว์กันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ใช้ในการแข่งขัน ท่าเต้นที่แสนจะมันส์หยด และเสื้อผ้าเครื่องประดับที่สุดอลังการ

สำหรับแรงใจที่มาเชียร์ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือแม้แต่ผู้ปกครองของผู้เข้าแข่งขัน ต่างพากันมาเชียร์ทีมของตนกันอย่างคึกคักแบบติดขอบเวที โดยเฉพาะเสียงเชียร์ของทีมโรงเรียนสายน้ำผึ้งที่ดูจะดังและคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเล่นขนกันมาเกือบร้อยคน ทำให้บรรยากาศการประกวดยิ่งสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

และแล้วช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อผลการตัดสินเป็นไปอย่างเอกฉันท์ คือ “โรงเรียน บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)” ซึ่งมาในเพลงมาลัยน้ำใจ และ เพลงด่วนพิศวาส “ได้รับรางวัลชนะเลิศรับ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ไปครอง “พร้อมรถยนต์นิสสัน ฟรอนเทียร์ ดับเบิ้ลแค็บ ทีแอล 2700 ซี.ซี. 1 คัน มูลค่า 592,000 บาท” รองชนะเลิศได้แก่ โรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ฯ และโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ ซึ่งได้รับโล่เกียรติยศ, จักรยานยนต์ยามาฮ่า X1 มูลค่า 41,500 บาท และบัตรกำนันเครื่องดนตรียามาฮ่า มูลค่า 100,000 บาท สำหรับอีก 8 โรงเรียนที่เหลือได้รับรางวัลชมเชยเป็น โล่เกียรติยศ และชุดเครื่องเสียงโฮมเธียร์เตอร์ยามาฮ่า รุ่น RXV 450 พร้อมลำโพง NS-P436 จำนวน 1 ชุด มูลค่า 40,500 บาท

ความตื่นเต้นจากการประกาศผลรางวัลยังไม่หมดลงแค่นี้ เพราะยังมีรางวัลพิเศษสำหรับนักร้องยอดเยี่ยมหญิงคือ “เด็กหญิงนนธวรรณ ทองเหล็ง” จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จากการขับร้องเพลง “ด่วนพิศวาส” และรางวัลนักร้องยอดเยี่ยมชายที่เฉือนกันไม่ขาดจึงต้องลงเอยที่ “นายวชิระ คงหนู” จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ จากเพลง “เพื่อเพลงลูกทุ่งไทย” และ “นายภูมิสิทธิ์ วงศ์สมบูรณ์” จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งขับร้องเพลง “มาลัยน้ำใจ”

ด้าน “ดร.พรเทพ พรประภา” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด กล่าวว่า “เวทีการประกวดวงดนตรีเยาวชนยามาฮ่าลูกทุ่งคอนเทสต์ เป็นเวทีที่สร้างโอกาสในการก้าวไปอีกหนึ่งระดับเพื่อที่จะเป็นศิลปินลูกทุ่งในอนาคตต่อไป โดยสยามยามาฮ่าจะสร้าง “คนรุ่นใหม่...หัวใจลูกทุ่ง” ที่มีมาตราฐานการคัดเลือก และมีคณะกรรมการตัดสินที่มีความยุติธรรมจากศิลปินเพลงลูกทุ่ง ศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งคณาจารย์จากสถาบันดนตรียามาฮ่า ซึ่งในอนาคตน้องๆ จะมีผลงานเพลงลูกทุ่งอย่างแน่นอน เพราะจากความสามารถของน้องๆ ได้พิสูจน์ฝีมือให้เห็นแล้วว่าเขาทำได้ เนื่องจากได้มีการฝึกซ้อมและมีการพัฒนาทักษะฝีมือการแสดงอยู่ตลอดเวลา แต่อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่น้องๆ จะก้าวไปเป็นศิลปินได้นั้นต้องรอให้จบการศึกษาก่อน เพราะทางเราคำนึงถึงเรื่องเรียนเป็นหลักก่อนที่จะผลักดันน้องๆ ให้ก้าวไปอีกหนึ่งระดับ”

ส่วนทาง “นายกวีชาติย์ จันทร์แพง” อาจารย์ที่รับผิดชอบดูแลวงดนตรีของทีมโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า “ทีมของเราใช้เวลาเตรียมตัวนานมากคือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเราก็พยายามคัดเลือกเด็กใหม่ๆ เข้ามาเสริมทีมกับวงเดิมที่มีอยู่ เคล็ดลับที่สำคัญของเราคือ เราจะซ้อมกันแค่ 2 เพลง ซึ่งจะเป็นเพลงที่ใช้แข่งขันเลยเพื่อให้เด็กๆ มีความคุ้นเคยและซึมซับทั้งเนื้อร้องและทำนองเพลง แต่ก็มีบ้างถ้าวันไหนเบื่อๆ ก็จะมีการซ้อมเพลงอื่นกัน เนื่องจากเรามีการเตรียมตัวนาน เราจึงใช้เวลาซ้อมเพียงวันละ 1 ชั่วโมง เพราะธรรมชาติของเด็กที่เล่นเครื่องเป่าเค้าจะต้องใช้พลังมากถ้าเกิดว่าซ้อมนานเกินไปก็จะเกิดความล้าได้...เราให้ความสำคัญในเรื่องของเครื่องดนตรี หางเครื่อง และนักร้อง ในสัดส่วนที่พอเหมาะพอดี จะไม่เน้นอะไรจนมากเกินไป แต่ก็ถือเป็นเรื่องโชคดีของทีมเราด้วยที่มีนักร้องหญิง และชายที่ฝีมือดีด้วยกันทั้งคู่”

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด(มหาชน)

ศุภิสรา (หน่อย-สิริกร) (ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์)

อนงค์สิริ-เจื้อย (ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายฯ) 09-9276169

สุรีย์พร (เอ้) 06-6199514, ปิยาภัทร์ (หญิง)

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--