ผู้ส่งออกไทยร้องก.พาณิชย์เจรจาอียูย้ำ!โควต้าไก่ปรุงสุกไทยต้อง 200,000 ตัน

02 Nov 2006

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย

นายอนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้อียูได้มีการตกลงกับบราซิลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้โควต้าจำนวน 170,807 ตัน จากโควต้ารวมสำหรับเนื้อไก่หมักเกลือเท่ากับ 264,245 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.64 ของตลาดรวม โดยมีอัตราภาษีในโควต้าร้อยละ 15.4 ส่วนนอกโควต้า 1,300 ยูโรต่อตัน ขณะที่โควต้ารวมเนื้อไก่ปรุงสุก รวมอยู่ที่ 230,473 ตัน โดยบราซิลได้โควต้าที่ 73,000 ตัน ด้วยอัตราภาษีในโควต้าร้อยละ 10.9 นอกภาษีโควต้าที่ 1,024 ยูโรต่อตัน

จากปริมาณโควต้าไก่ปรุงสุกที่อียูกำหนด เห็นได้ว่าเป็นปริมาณโควต้าที่น้อยเกินไป จะทำให้โควต้าไก่ปรุงสุกของไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไปอียูเป็นอันดับหนึ่ง ที่ได้รับมีน้อยตามไปด้วย โดยจะเหลือเพียง 150,000 ตันเท่านั้น ขณะที่ความต้องการโควต้าเนื้อไก่ปรุงสุกของไทยมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัน

การเจรจาระหว่างไทยกับอียูในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ผู้แทนในการเจรจาของไทยอย่างกระทรวงพานิชย์จึงต้องร้องขอเพิ่มปริมาณโควต้านำเข้าเนื้อไก่ปรุงสุกอย่างน้อยที่ 200,000 ตันให้ได้ มิฉะนั้น จะเกิดขึ้นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการส่งออกไก่ของไทยอย่างมาก

เนื่องจากจะทำให้ไทยไม่สามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้ ขณะที่การขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตไก่เพื่อส่งออกก็จะขยายตัวได้น้อยลง อีกทั้งยังส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ซึ่งได้มีการกู้เงินมาลงทุนในการเลี้ยงไก่ไปแล้ว ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ที่ยังไม่คุ้มทุนที่ลงไป แต่ก็ต้องมาประสบปัญหา อียูจำกัดโควต้านำเข้า

ดังนั้นการที่อียู อ้างว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวเพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมไก่ของอียูนั้นถือเป็นข้ออ้าง เพราะที่ผ่านมาอียูได้แสดงเพียงเพราะคำพูดที่กล่าวว่านอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นแล้วอียูยังทำเพื่อกีดกันการเติบโตทางตลาดของบราซิลไม่ได้กีดกันหรือกลั่นแกล้งไทยแต่อย่างใด แต่การกระทำที่ปรากฎทำให้ไทยกลับเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายแต่เพียงผู้เดียวเต็มๆ เห็นเช่นนี้แล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไทยหวังเพียงให้ผู้แทนในการเจรจาอย่างกระทรวงพานิชย์ ทำทุกวิถีทางในการเจรจาเรียกร้องเพื่อเพิ่มปริมาณโควต้านำเข้าไก่ปรุงสุกที่ 200,000 ตัน ให้ได้