สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เซ็น MOU สมาคมเครื่องสำอางอิตาลีในงาน Thailand Health and Beauty show 2006ตั้งเป้าแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและขยายตลาดเครื่องสำอาง

09 Nov 2006

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น

นางสาวเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวในงาน Thailand Health and Beauty show 2006 ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า ในงานนี้ สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ได้ลงนามสัญญาข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) ร่วมกับสมาคมเครื่องสำอางแห่งชาติอิตาลี (UNIPRO : Italian Association of Cosmetic Industries) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว เน้นในเรื่องของการร่วมมือกันพัฒนาเทคนิคการผลิตและมาตรฐานเครื่องสำอางและ ผลิตภัณฑ์สปา เพื่อให้ได้มาตรฐานของยุโรป รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และการสนับสนุนให้นักธุรกิจที่เป็นสมาชิกทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีการทำการค้าซึ่งกันและกันให้เพิ่มขึ้น โดยกรมส่งเสริมการส่งออก มีนโยบายให้ฝ่ายอิตาลีช่วยด้าน Technical Support โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานสินค้าและบริการด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สมาคมเครื่องสำอางอิตาลียินดีช่วยเหลือด้านกระจายสินค้าไทยด้วย

โดยผู้จัดการสมาคมฯ ฝ่ายอิตาลี ผู้ลงนามได้แก่ Dr.Gian Andrea Positano และผู้ลงนามฝ่ายไทยได้แก่ นางสาวเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย

สมาคมเครื่องสำอางอิตาลี มีสมาชิกกว่า 550 บริษัท ทั้งนี้เป็นระดับ Multinational และ Local Companies มีมูลค่าการขายรวมกันร้อยละ 97 ของยอดขายรวมของอิตาลี มูลค่าการบริโภคภายในประเทศอิตาลีคิดเป็น 8.4 พันล้านยูโร

สมาคมเครื่องสำอางอิตาลี ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาก โดยการลงนามความร่วมมือนี้ ได้กระทำกับประเทศไทยเป็นแห่งแรกในเอเซีย นอกจากการลงนามใน MOU ความร่วมมือดังกล่าว Dr. Gian Andrea Positano ได้ให้เกียรติมาบรรยายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในอิตาลีให้ผู้ประกอบการไทยรับฟังในระหว่างงานแสดงสินค้าด้วย และสมาคมเครื่องสำอางอิตาลี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองมิลาน ได้จัดคณะผู้แทนการค้า ประกอบด้วยผู้บริหารสมาคม และนักธุรกิจ จำนวน 10 ราย เดินทางมาเยี่ยมชมงาน Thailand Health & Beauty Show ด้วย

นางสาวเกศมณี กล่าวเพิ่มเติมว่า อิตาลีเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ เพราะมีโรงงานผลิตกว่า 5,000 แห่ง และมีประสบการณ์ในการผลิตมานานกว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย ในขณะที่ประเทศไทยมีโรงงานผลิตประมาณ 700 แห่ง และมีประสบการณ์การผลิตประมาณ 50 ปี ดังนั้น การที่สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางเซ็น MOU กับ UNIPRO ในครั้งนี้ จะทำให้เราได้รับโนว์ฮาวและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากอิตาลี นอกจากนี้เรายังมีโอกาสที่จะขยายตลาดเครื่องสำอางไปยังอิตาลีได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่อิตาลีเองก็สนใจที่จะขยายตลาดมายังอาเซียน และกำลังมองหาแหล่งวัตถุดิบที่แปลกใหม่เพื่อนำไปใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งประเทศไทยเรามีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่แปลกใหม่ ทำให้อิตาลีสนใจ และจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ตลาดสมุนไพรของไทยเติบโตขึ้นด้วย โดยในระยะแรก สมาคมฯ มีโครงการที่จะให้ UNIPRO เข้ามาวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรไทย เนื่องจากไทยมีสมุนไพรจำนวนมาก แต่ยังขาดผลวิจัยที่เป็นวิชาการที่จะใช้อ้างอิงได้ การที่ UNIPRO มาช่วยวิจัยตรงนี้ จะทำให้มีการใช้สมุนไพรไทยในเชิงวิชาการ และจะทำให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสมุนไพรมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทาง UNIPRO จะเข้ามาช่วยในการวิจัยเท่านั้น แต่จะไม่มีสิทธิในการจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิสมุนไพรของไทยไปเป็นของประเทศอิตาลี