โรคหัวใจและหลอดเลือด ภัยร้ายสุขภาพคนไทย คร่าชีวิต 30 คนต่อวัน แพทย์เตือนคนอ้วนลงพุงระวังเสี่ยงสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า

25 Sep 2006

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--โฟร์ฮันเดรท

มูลนิธิหัวใจและสมาคมแพทย์โรคหัวใจร่วมกับบริษัทซาโนฟี่ - อเวนตีส (ประเทศไทย)จำกัด จัดกิจกรรมใน “วันหัวใจโลก” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักว่าคนไทยกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของโรคที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดซึ่งถือได้ว่าเป็นความศูนย์เสียทั้งในด้านของบุคลากรของประเทศ เศรษฐกิจ และสังคม เพราะผู้รอดจากการเป็นโรคยังต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง พร้อมเตือนคนที่อยู่ในภาวะอ้วนลงพุงควรระวัง เพราะมีอัตราเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า

นายแพทย์ ประสาท เหล่าถาวร กรรมการมูลนิธิหัวใจและอุปนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจ กล่าวในการเปิดสัมมนาเนื่องในวันหัวใจโลก (World Heart Day) ว่า “โครงการรณรงค์ระดับโลกในปีนี้ จัดขึ้นตามแนวคิดว่า How young is your heart (แข็งแรงแค่ไหน หัวใจคุณ) จัดโดยบริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจในการดูแลหัวใจของตน และหาความรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะมี หัวใจแข็งแรง และห่างไกลจากโรคหัวใจ” และกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จากสถิติต่างๆ พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 17.5 ล้านคน ในปี 2546 และที่น่าตกใจคือร้อยละ 80 อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง สำหรับประเทศไทยนั้น โรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ในลำดับ 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตเช่นเดียวกัน พบว่าในปี 2546 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 40,092 คน เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2545 นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยจากโรคหัวใจขาดเลือดในในปี 2546 มีจำนวน 92,733 คน เพิ่มขึ้น 20% จาก ปี 2545 อีกด้วย และจากสถิติผู้เข้ารับการรักษายังพบว่าจำนวนผู้ป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เข้ารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 3 เท่า และในแผนกผู้ป่วยในเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 7-17 เท่า”

นพ.วศิน พุทธารี อาจารย์แพทย์จากศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวว่า “เมื่อเข้าใจเรื่องโรคหัวใจและทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และปรับวิถีชีวิตที่เสริมสร้างสุขภาพเช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย และงดการสูบบุหรี่จะช่วยป้องกัน โรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองได้ และยังช่วยทำให้หัวใจแข็งแรงเหมือนหนุ่มสาวและช่วยชะลอความเสื่อมของหัวใจลงได้ และการรักษาหัวใจของเราให้แข็งเรง จะช่วยให้ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสำคัญมากต่อชีวิต โดยช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 25 % และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 40 % การไม่ออกกำลังกาย จะนำไปสู่หัวใจที่ชราภาพอย่างรวดเร็ว และยังนำไปสู่โรคอ้วน โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ กล้ามเนื้อหัวใจต้องการการออกกำลัง เพื่อให้สามารถสูบฉีดโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลช่วยให้ชะลอการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง ทำให้ร่างกายใช้ไขมันส่วนเกินให้หมดไป ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มระดับโคเรสเตอรอลชนิดดี และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ”

ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่องโภชนาการว่า “การรับประทานอาหารที่ปรับแคลอรี่ให้สมดุลจะช่วยให้หัวใจแข็งแรง ขอแนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรเดินเร็ว ๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาที และต้องปรับการรับประทานอาหารให้อุดมด้วยผักและผลไม้ เมล็ดธัญญพืช เนื้อที่ปราศจากไขมัน ปลา อาหารจำพวกถั่ว และอาหารอื่นที่ไขมันต่ำหรือไร้ไขมัน รวมทั้งเลือกใช้ไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เช่นน้ำมันรำข้าว และน้ำมันมะกอก เป็นต้น และยังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา รวมถึงต้องมีการควบคุมน้ำหนักของร่างกายไม่ให้มากจนเกินไป”

บริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส ได้จัดกิจกรรม “วันหัวใจโลก” ร่วมกับสหพันธ์หัวใจโลก โดยจัดพร้อมกันทั่วโลกในสาขาต่าง ๆ ของบริษัท ในงานนี้นอกจากสนับสนุนการสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว ยังจัดบริการตรวจวัดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่นตรวจ ABI(เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน) วัดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และยังบริการวัดความเสี่ยงอย่างง่ายๆ และมีประสิทธิภาพ คือการวัดรอบเอวระดับสะดือ ซึ่งค่าภาวะเสี่ยงสำหรับเพศชาย คือตั้งแต่ 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) ขึ้นไป และในเพศหญิง คือตั้งแต่ 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว) ขึ้นไป

นำเสนอข่าวโดยบริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด

รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง โทร. 02-510-5514-5 หรือ 081-913-1291

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net