ภาคประชาชนพร้อมพบ คปค. ขอแรงหนุน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

29 Sep 2006

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สปรส.

นายตวง อันทะไชย ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชน (สกช.) และผู้แทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพและภาคีสุขภาพทั่วประเทศ มายื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ช่วยผลักดัน ร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่เสนอโดยภาคประชาชนประกาศบังคับใช้ให้เร็วที่สุด ด้วยภาคประชาชนเกรงว่าร่างกฎหมายนี้ต้องตกไปพร้อมกับการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

นายตวง กล่าวว่า เครือข่ายสมัชชาสุขภาพและภาคีสุขภาพทั่วประเทศต่างเกิดความกังวล ห่วงใยอย่างมาก ด้วยเกรงว่าร่าง พระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ....ที่ภาคประชาชนร่วมกันยกร่าง และทดลองการทำงานจนสามารถก่อเกิดการตื่นตัวของประชาชนที่เข้าร่วมกระบวนการสร้างระบบสุขภาพผ่านสมัชชาสุขภาพในทุกจังหวัด จะไม่สามารถประกาศใช้ให้เกิดเป็นจริงได้ หลังจากที่ร่วมผลักดันกันมายาวนานกว่า 6 ปี

“พวกเรามายื่นหนังสือต่อ คปค.ในวันนี้เพื่อขอเข้าพบและชี้แจงถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ หาก ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติซึ่งจะเป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพสามารถประกาศใช้ได้เร็วเท่าไร จะยิ่งช่วยหนุนให้กฎหมายอื่นๆ สามารถดำเนินงานด้านสุขภาพที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญที่สุดเจตนารมณ์ของ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือมุ่งสร้างความสมานฉันท์ระหว่างทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้นจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปฏิรูปสังคม สร้างสันติสุข และความสามัคคีของคนในชาติด้วยความรู้ ปัญญา และความรัก พี่น้องเครือข่ายสมัชชาสุขภาพและภาคีสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศหวังว่า คปค. ซึ่งสนับสนุนแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปการเมืองการปกครอง จะช่วยสนับสนุนผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บททางด้านสุขภาพฉบับแรกของคนไทย ที่เสนอโดยภาคประชาชนได้ผ่านออกมาประกาศใช้โดยเร็วที่สุด” นายตวงกล่าว

ร่าง พระราชบัญญัติแห่งชาติ นั้น เป็นกฎหมายที่ยกร่างโดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากที่สุดตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศกว่า 1,000 เวที มีเครือข่ายองค์กรต่างๆเข้าร่วมกว่า 3,000 เครือข่าย มีคนเข้าร่วมกว่า 300,000 คน และเมื่อปี 2545 ได้มีกิจกรรมรณรงค์รวมพลังสร้างสุขภาพตามรอยพระยุคลบาท วิ่งและปั่นจักรยาน 5 สายทั่วประเทศ รวบรวมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ถึง 4.7 ล้านคน มอบต่อประธานรัฐสภา เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่า

ต่อจากนั้น รัฐบาลได้รับเป็นเจ้าภาพผลักดันร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว แต่ก็ติดค้างอยู่ในขั้นตอนทางการบริหารของรัฐบาลนานประมาณ 2 ปี โดยไม่ทราบเหตุผล ภาคประชาชนจึงได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายส่งเสริมกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชน(สกช.)ใช้สิทธิตามมาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 95,410 คน เสนอ ร่าง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ..... ต่อประธานรัฐสภาขณะนั้น (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ผ่านกระบวนการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์และได้รับการบรรจุเข้ารอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุด ปลายปี 2548 รัฐบาลจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธาน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เข้าพิจารณาในสภาฯพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติของประชาชนและพรรคการเมืองอีก 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งสิ้น 5 ร่าง ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1 รับหลักการ โดยมติเอกฉันท์ของที่ประชุม เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ จำนวน 47 คน โดยมีสัดส่วนกรรมาธิการจากภาคประชาชนจำนวน 8 คน แต่ปรากฏว่าพิจารณาไปได้เพียง 16 มาตรา รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 มีผลให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุขภาพฯ ฉบับนี้ต้องยุติลง เพื่อรอการเสนอเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมาธิการจากสภาผู้แทนฯ ชุดใหม่