สวทช. - SHARE หนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ ‘ERP’ เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจเครื่องนุ่งห่มไทย

11 Apr 2007

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สวทช.

สวทช. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย หรือ ‘ SHARE’ สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ระบบ ERP ในธุรกิจเครื่องนุ่งห่มไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หลังสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ระบุ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการตัดสินใจและการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จัดเป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก เช่น การถูกจำกัดสินค้านำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO จากระบบโควต้า , ผู้ซื้อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อสินค้า(Sourcing Strategy) โดยการแสวงหาพันธมิตรเพื่อสามารถตอบสนองในเรื่อง กำลังการผลิต , ต้นทุน , คุณภาพการผลิต การออกแบบ และการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้ง ช่วยในการประมวลผลที่แม่นยำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นดังกล่าว

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (สวทช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย จึงได้จัด “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ระบบ ERP ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการด้วยการจัดฝึกอบรมบุคลากร และการให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

โดยผู้สมัครเข้าร่วมโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนจาก iTAP ร้อยละ 50 มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2550 – 2554

ด้าน นายพิษณุ มุนิกานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (SHARE) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ถือเป็นโครงการแรกที่ได้ร่วมมือกับทาง iTAP (สวทช.) เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ เพราะเป็นโครงการที่จะสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้ในเรื่องของการบริหารจัดการตั้งแต่ด้านการตลาด ไปจนถึงด้านการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากการรับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วเพื่อการตัดสินใจ เพราะท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานจากเดิมที่ทำงานด้วยมือ หรือ manual มาใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม จะทำให้องค์กรสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งมาจากการขาดข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วพอ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยี

“ เทคโนโลยี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการผลิต , เครื่องจักร หรือแม้แต่เรื่องของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าที่สั้นลงได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งเรื่องโควต้า และออร์เดอร์จากต่างประเทศน้อยลง ขณะที่การออกแบบมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และระยะเวลาการส่งมอบสินค้าสั้นลง หากเรายังทำงานแบบเดิมจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้น เมื่อแนวโน้มของสถานการณ์ที่ถูกบังคับเช่นนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ และนอกจากการจัดโครงการดังกล่าวขึ้นแล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการโดยเฉพาะที่ เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อนำไปหาแนวทางในการช่วยเหลือร่วมกับ iTAP ในโครงการอื่นๆ ต่อไป ” นายพิษณุ กล่าว

สำหรับโครงการการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มนั้น เป็นการวางแผนการใช้ทรัพยากรขององค์กรทั้งหมดตั้งแต่สายการตลาด ไปจนถึงสายการผลิตในโรงงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นระบบที่จะทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้ในทุกส่วน ทั้งระบบการจัดเรียงสต็อกสินค้า , การผลิต , การจัดการ , การคำนวณต้นทุน ไปจนถึงการรับงาน ที่ต้องใช้ข้อมูลสารสนเทศมาช่วยในการตัดสินใจเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดโลกได้มากขึ้น

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net