จัดระบบความคิด กับ “สนุก สุขใจ ได้ปัญญา” ในห้องเรียนโลก

29 Mar 2007

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์

หลีกลี้จากระบบท่อง จำ จินตนาการ สู่โลกกว้างใบใหญ่ที่เปิดให้ค้นคว้าและลงมือทำ กับเหล่าเยาวชนตัวน้อย จากโรงเรียนบ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เด็กๆ เหล่านี้คิดและทำในสิ่งที่อยากรู้ด้วยตนเอง โดยมีครูและผู้ใหญ่ใจดีให้ความช่วยเหลือตลอดจนคำปรึกษา โครงงานของพวกเขาน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “ธนาคารสมอง” ที่เปิดให้กู้ยืมเงินโดยเอาความคิดมาเป็นหลักประกัน และ “ฝายชะลอน้ำ” ที่ช่วยให้ชุมชนที่เคยแห้งแล้งกลับมาชุ่มชื้นและไม่เกิดไฟป่า และเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 น้องๆ จะสืบสานการสร้างฝายเพิ่มเติมอีก ภายใต้โครงงาน “80 ฝายถวายพ่อหลวง” ทั้งนี้ เพราะมีประโยชน์ต่อชุมชน อีกทั้งเพื่อร่วมเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แสดงความจงรักภักดีต่อแผ่นดินเกิด เด็กๆ ต่างภูมิใจในผลงานของตนที่ได้รับการเรียนรู้แบบบูรณาการ ผ่านกระบวนการคิดและจัดการความรู้อย่างเป็นขั้นตอน ภายใต้ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หรือ Constructionism ที่นำมาเผยแพร่ในประเทศไทยโดย พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิไทยคม ถ่ายทอดเป็นหนังสือ “สนุก สุขใจ ได้ปัญญา” โดยมูลนิธิไทยคม จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 5,000 เล่ม โดยได้ทำการเปิดตัวไปแล้ว ณ ร้านขนม ลา วิลล่า ถ.พหลโยธิน วางจำหน่ายครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 30 มีนาคม - 10 เมษายนศกนี้ ณ บูธมูลนิธิไทยคม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และต่อไปจะวางจำหน่ายตามร้านซีเอ็ดบุคเซ็นเตอร์ทุกสาขาทั่วประเทศต่อไป ราคาเล่มละ195 บาท รายได้จากการจัดจำหน่ายจะสมทบทุนให้แก่มูลนิธิคุณพุ่ม

“เพราะทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หนูจึงได้กระบวนการคิด การจัดการ และได้ลงมือปฏิบัติจริง”น้องฝน หรือ นางสาวนิตยา อุทธิยะ วัย 21 ปี อดีตนักเรียนโรงเรียนบ้านสามขา ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำของกลุ่มเยาวชนบ้านสามขาเริ่มบทสนทนา จุดเริ่มต้นของโครงงานธนาคารสมองมาจากเงินทุนเพียง 33,000 บาทที่เด็กๆ บ้านสามขาเหลือจากการเปิดค่ายภาษาอังกฤษและดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ผู้อำนวยการโครงการประภาคารปัญญา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคเหนือ จังหวัดลำปางและคณะ มอบให้ “ตอนที่เราเข้าค่าย ผู้ใหญ่ในชุมชนให้ความช่วยเหลือเรา หาข้าวหาปลา หาสถานที่ให้ พวกเราซาบซึ้งมาก เงินที่เหลือเราจึงอยากจะนำมาทำอะไรตอบแทนบ้าง จึงรวมกันจัดตั้งเป็นธนาคารสมอง โดยมีอาจารย์ทวีศักดิ์ ไชยองค์การ วุฒิอาสาธนาคารสมอง โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ให้คำปรึกษา” น้องฝนเล่า พร้อมบอกว่า “เรามีการแบ่งหน้าที่กัน มีประธาน รองประธาน กรรมการ ฝ่ายบัญชี และที่ขาดไม่ได้เพราะต้องทำงานหนักหน่อยคือ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ โดยกฎการกู้ยืมเงินของธนาคารสมอง คือผู้กู้ต้องใช้ความคิดมาเป็นหลักประกัน กู้แล้วเอาไปลงทุนอะไร จัดการบริหารอย่างไร ได้ผลเพียงใด ต้องทำให้เราเชื่อมั่นเราจึงลงมติอนุมัติปล่อยสินเชื่อ ส่วนดอกเบี้ยเราเรียกว่าค่าบำรุง ดังนั้น จึงแล้วแต่ศรัทธาของผู้กู้ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดผู้กู้ต้องให้เราได้ลงพื้นที่ตามไปดูไปเรียนรู้ขั้นตอนการปฏิบัติหรือการลงทุนจริงด้วย ซึ่งส่วนมากชาวบ้านจะกู้เงินไปประกอบอาชีพหรือลงทุน อาทิ ปลูกหอม เลี้ยงครั่ง ทำกล้วยอบ เป็นต้น” ผลตอบรับจากการเปิดธนาคารสมอง ปรากฏว่าขณะนี้มีผู้กู้จำนวนมาก นอกจากทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องในชุมชนไม่ให้มีหนี้สินด้วย “หนูเชื่อว่าผู้ใหญ่ไม่โกงพวกเราหรอก ถึงโกงก็ไม่เป็นไร เพราะคนที่ยืมเงินเราก็คือพ่อแม่พี่น้องของเราเอง เรื่องบางเรื่องเงินก็ซื้อไม่ได้ เราทำธนาคารสมองเพราะเรารักผู้ใหญ่มากขนาดนี้ เขาก็คงไม่โกงเราหรอก” น้องฝนกล่าวด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ก่อนจะแอบเผยตัวเลขว่าจากปี 2544 ที่เริ่มดำเนินการ ปัจจุบันธนาคารสมองมีเงินทุนหมุนเวียนถึง 100,000 กว่าบาททีเดียว

โครงงานฝายชะลอน้ำ เริ่มขึ้นเมื่อเด็กๆ ได้มีโอกาสไปดูงานที่ห้วยฮ่องไคร่ จังหวัดเชียงใหม่ กับคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง ที่พระองค์ท่านสามารถพลิกฟื้นแผ่นดินแห้งแล้งให้กลับมาเชียวชอุ่มชุ่มชื้นได้ เมื่อกลับมาเยาวชนจึงอยากทำฝายเพื่อกักเก็บน้ำที่บ้านของตนบ้าง น้องเฟิร์น หรือ นางสาวปทุมวรรณ วงค์ตั๋นมูล อายุ 18 ปี อดีตนักเรียนโรงเรียนบ้านสามขา แกนนำของกลุ่มเยาวชนบ้านสามขาเล่าว่า “แต่ก่อนอากาศที่บ้านสามขาร้อนและแห้งแล้งมาก บางครั้งก็เกิดไฟป่าซึ่งมีสาเหตุหลักๆ มาจากมนุษย์ที่เชื่อว่าถ้าเผาป่าแล้วจะมีเห็ดขึ้น มีผักหวานขึ้น และถ้าฤดูฝนก็เกิดน้ำป่ารุนแรง ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาก ดังนั้น เราจึงนำแนวคิดของพระองค์ท่านมาพัฒนาและประยุกต์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของบ้านเรา เด็กๆ จึงรวมตัวกันไปสร้างฝายที่ต้นน้ำบนภูเขา 3 ลูกที่เป็นบริเวณพื้นที่ของเรา เป็นฝายเล็กบ้าง ใหญ่บ้างตามสภาพพื้นที่ โดยความถี่ขึ้นอยู่กับความแรงของกระแสน้ำ สร้างไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น จากเด็กๆ ก็มีผู้ใหญ่มาร่วมด้วยจนมาช่วยกันสร้างทั้งชุมชน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันดูแล รักษา ซ่อมแซมฝายที่ชำรุด มีครั้งหนึ่งไฟป่าลามมาถึงลอง สเตย์ แต่พวกเราก็ฝ่าไฟป่าไปดูฝายกัน เราเป็นห่วง ทำให้ผู้ใหญ่รู้ว่าเมื่อเด็กเขาทำสิ่งไหน เขาก็จะรักและผูกพันกับสิ่งนั้น” เด็กๆ บ้านสามขาริเริ่มสร้างฝายตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันมีฝายจำนวน 1,206 ลูก จากวันนั้นจนถึงวันนี้น้องเฟิร์นบอกว่าที่บ้านสามขาชุ่มชื้นขึ้นมากและอากาศไม่ค่อยร้อนแล้ว ทั้งนี้ เพราะรากของต้นไม้ใหญ่ในป่าสามารถดูดซับน้ำในฝายชะลอน้ำได้ ฤดูร้อนก็จะคลายน้ำออกมา ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี อีกทั้งเป็นการรักษาระบบนิเวศน์อีกด้วย “เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา หนูกับน้องๆ บ้านสามขา ตั้งใจไว้ว่าปีนี้จะสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมอีก ภายใต้โครงงาน 80 ฝายถวายพ่อหลวง เพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด และเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน เพราะถ้าไม่มีในหลวงที่พระราชทานแนวคิดเรื่องฝาย ชุมชนของเราก็คงจะไม่มีความชุ่มชื้นเช่นนี้ค่ะที่สำคัญต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ที่เปิดโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้แบบบูรณาการ มีกระบวนการคิดเป็นขั้นตอน และสอนให้เราต่อยอดองค์ความรู้”

ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ทั้งสิ้น 3 โรงเรียน ได้แก่ ดรุณสิกขาลัย จ.กรุงเทพมหานคร, บ้านสันกำแพง จ.เชียงใหม่ และบ้านสามขา จ.ลำปาง โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ 1 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านน้าน้อย จ.บุรีรัมย์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300

คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net