สมาคมหมูสนับสนุนนโยบายรัฐดันส่งออก พร้อมแนะตั้งงบหนุนรายกลาง-รายย่อยยกระดับฟาร์มมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน

02 May 2007

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดทำแผนการส่งออกเนื้อสุกร 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ภายใน 3-5 ปี โดยจะนำแผนดังกล่าวเข้าเสนอต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ตรวจสอบและรับรองการปลอดโรคในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกนั้น เป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

เนื่องจากปัจจุบัน ผลผลิตเนื้อสุกรของไทยมีมาตรฐานการผลิตอยู่ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกร หรือโรงชำแหละมาตรฐานส่งออก แต่ด้วยปัญหาของโรคปากเท้าเปื่อยทำให้ไทยกลับสามารถส่งออกเนื้อสุกรได้ในบางประเทศเท่านั้น เช่น ฮ่องกงและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น หาก OIE ให้การรับรองมาตรฐานการปลอดโรคดังกล่าวแก่ไทย ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสในการเพิ่มตลาดส่งออกไปยังญี่ปุ่นและรัสเซีย ซึ่งมีปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรในปี 2549 สูงถึง 2,530,000 ตันและ 2,580,000 ตันตามลำดับ นับเป็นตลาดบริโภคเนื้อสุกรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงตลาดอื่นๆ ในสหภาพยุโรปอีกด้วย

“การผลักดันเรื่องส่งออกเนื้อสุกร นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยลดปริมาณเนื้อสุกรและแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรตกต่ำภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐก็ควรจะจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับฟาร์มของเกษตรกรรายกลางและรายย่อยด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เข้าสู่ความเป็นฟาร์มมาตรฐาน สอดคล้องกับแผนการส่งออกเนื้อสุกรของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ผลสำคัญที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ จะช่วยให้ราคาของเนื้อสุกรในระยะยาวมีเสถียรภาพ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงก็ไม่ต้องประสบกับภาวะขาดทุน ด้านผู้บริโภคก็ได้บริโภคเนื้อสุกรในราคาที่สมเหตุสมผล