4 นักวิจัยหญิงเก่ง รับทุนวิจัย“เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”

17 Jun 2007

กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--ลอรีอัล

มีคนพูดกันว่าอิสตรีเป็นผู้ที่ทำให้โลกนี้สวยงาม และจะดีแค่ไหนหากสตรีเหล่านี้สามารถเป็นผู้สร้างคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ให้ดี สมดุล สวยงาม และน่าอยู่มากขึ้น

ดังนั้น บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก ผู้นำทางด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อความงาม จึงได้ร่วมกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จัดงานมอบทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปีที่ 5 ขึ้น

ในค่ำคืนนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และทรงพระราชทานทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยสตรีที่ได้รับการคัดเลือก จากสาขาวัสดุศาสตร์ ประจำปี 2007 นี้ ได้แก่ ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับศึกษาน้ำยางธรรมชาติที่ได้มาจากต้นยางพาราที่ผ่านกระบวนสังเคราะห์ ทำให้คุณสมบัติความคงทนของยางธรรมชาติดีขึ้น ซึ่งนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ถุงมือแพทย์ที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้นจนสามารถบรรจุยาฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ระหว่างฟิล์มยางเพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อโรค, เลือด หรือน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่ติดมากับปลายเข็มฉีดยาได้ และ รศ.ดร. เมตตา เจริญพานิช แห่งภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในผลงานวิจัยเรื่อง การสังเคราะห์ซิลิกาเมโซพอร์ชนิด SBA-15 จากเถ้าแกลบในการเร่งปฏิกิริยาการผลิตน้ำมันดีเซลบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสะอาดมาประยุกต์เข้ากับการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน เพื่อลดมลพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งแต่เดิมมีกำมะถันและไนโตรเจนเป็นสารปนเปื้อน อีกทั้งเป็นการนำทรัพยากรทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในขณะที่ผลงานที่ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2007 นี้ ได้แก่ ดร. กัลยาณ์ แดงติ๊บ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยกลไกการก่อโรคของไวรัสดวงขาวในกุ้ง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย หากถ้ากุ้งเริ่มมีอาการของโรคนี้ กุ้งจะทยอยตายจนหมดบ่อภายใน 2-3 วัน ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุนอย่างมาก ซึ่งผลงานวิจัยพบว่าหากนำโปรตีนในกุ้งที่ชื่อ PmRab7 มาสังเคราะห์เป็นโปรตีนสังเคราะห์และฉีดกลับเข้าไปในตัวกุ้ง ก็จะสามารถขัดขวางไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์กุ้งได้ และอีกหนึ่งงานวิจัยนั่นคือ ผลงานของ ผศ.พญ. วัลยา จงเจริญประเสริฐ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ในการศึกษาหากลไกทางอณูพันธุศาสตร์ของการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นการศึกษาหาปัจจัยทางพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในคนไทย โดยการเจาะเลือดตรวจหาสารพันธุกรรมเพื่อหาความผิดปกติของแต่ละยีนที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดโรคเบาหวาน อีกทั้งทดสอบทั้งจีโนมมนุษย์ (whole genome scan) เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยและอาสาสมัครปกติ เพื่อคัดกรองหายีนที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน รวมไปถึงการศึกษาการแสดงออกของยีนจากเซลล์ไขมัน เพื่อหาความแตกต่างของการแสดงออกของสารพันธุกรรมของเซลล์ไขมันในช่องท้องและเซลล์ไขมันที่ผนังหน้าท้อง และการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์ ต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยารักษาเบาหวานกลุ่มไทอาโซลิดีนไดโอน

บรรยากาศของพิธีเต็มเปี่ยมไปด้วยความชื่นชมยินดีกับนักวิจัยสตรีทั้งสี่ท่านที่เปรียบประดุจนักนักกวีของกรีกที่สามารถรังสรรบทกวีชิ้นเอกขึ้นได้เองโดยต้องลอกเลียนแบบใคร นอกจากนี้โต๊ะของแขกผู้มีเกียรติถูกตั้งชื่อตามเทพธิดาแห่งกรีก โดยมีฮาฟสีทองและบรรดาเหล่าเทพธิดาทั้งน้อยใหญ่เริงร่าประดับตกแต่งไว้อย่างวิจิตรบรรจง ซึ่งในงานนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย มิสเตอร์ ฌอง ฟิลิปป์ ชาร์ริเย่ร์ กรรมการผู้จัดการ และ คุณสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ร่วมกันต้อนรับและดูแลแขกผู้มาร่วมงานกันอย่างคับคั่งด้วยตัวเองตลอดทั้งงาน ได้แก่ผู้มีคุณวุฒิในแวดวงวิทยาศาสตร์และในแวดวงสังคม อาทิ ศ.ดร. กอปร กฤตยากี, ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงศ์, ศ.ดร.มรว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์, ดร. สุจินดา โชติพานิช , ดร. จรวยพร ธรณินทร์ , คุณหญิงณัฐิกา - สนั่น อังอุบลกุล, สายสุดา เชื้อวิวัฒน์, พลอย-ไลลา บุณยศักดิ์ ฯลฯ

ภายในงานยังมีการขับกล่อมด้วยเสียงฮาฟที่ไพเราะ และเสียงขับร้องอันหวานซึ้งทรงพลังของคุณ นภาดา สุขกฤต เคล้าคลอไปกับการรับประทานอาหารมื้อค่ำซึ่งจัดเตรียมเอาไว้อย่างดี ที่สื่อถึงผลงายของนักวิจัยในแต่ละท่าน ซึ่งทำให้บรรยากาศของงานเปี่ยมไปด้วยความหมายและสร้างความประทับใจให้กับแขกผู้มาร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง

มร. ฌอง ฟิลิปป์ ชาร์ริเย่ร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “ด้วยทางลอรีอัล ได้ตระหนักถึง การวิจัย ค้นคว้า อันนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่คุณภาพชีวิตที่สมดุลย์ สมบูรณ์ และงดงามยิ่งขึ้น อีกทั้งวงการวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัย ถือว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งวิทยาการทางด้านความงาม ซึ่ง ลอรีอัล เองก็เกิดมาจากการค้นคว้าวิจัยเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุผลนี้เราจึงอยากสนับสนุนผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักวิจัยสตรีไทยให้ประสบความสำเร็จในงานที่กำลังค้นคว้า เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่จะเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ทุกคน เราจึงได้จัดโครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ขึ้นทุกปี โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5”

โครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท

ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด และ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการมอบทุนวิจัยทุนละ 150,000 บาท จำนวน 4 ทุน สำหรับสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) จำนวน 2 ทุน และ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) จำนวน 2 ทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ:

1. ร่วมรณรงค์สร้างโอกาสให้สตรีมีบทบาท และได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น

2. ร่วมประชาสัมพันธ์ความสามารถของสตรีที่เป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของงานวิจัยและวิวัฒนาการสำคัญต่างๆอันมีผลต่อคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

3. ร่วมสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสตรีให้มีทุนทรัพย์และความพร้อมในการทำงานวิจัยอันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากขึ้น

4. ร่วมชูความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนให้สตรีสนใจสายงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น

5. ถ่ายทอดเจตนารมย์ของบริษัทลอรีอัล ประเทศไทย ในความมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างโอกาสและส่งเสริมคุณภาพของสังคมไทยให้ สมดุล สวยงาม และน่าอยู่มากขึ้น

ทั้งนี้ ผศ.พญ. วัลยา จงเจริญประเสริฐ ยังได้เผยถึงมุมมองการเป็นนักวิจัยว่า “ไม่จำเป็นว่านักวิจัยจะต้องเป็นผู้ชาย เพราะการทำการวิจัยไม่มีผลเกี่ยวกับเพศ อันนี้ขึ้นอยู่กับใจรัก ความชอบ และความทุ่มเทให้กับงานมากกว่า แต่เราเป็นหญิงอาจจะได้เปรียบนิดหน่อยในเรื่องรายละเอียด และ ความรอบคอบ”

ส่วนรศ.ดร. เมตตา เจริญพานิช ได้เพิ่มเติมว่า “ด้วยในการงานจะอยู่ในสายวิศวะเคมี เราอาจจะด้อยกว่าในเรื่องกำลังแรง เพราะงานนี้เราต้องอยู่กับ เครื่องจักร เครื่องปฏิกร ซึ่งตรงนี้ผู้ชายอาจทำได้ดีกว่าเรา แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะทำไม่ได้ เพราะเรามีความอดทนสูง และละเอียดละออกว่า ดังนั้นงานหนักๆเราก็ไม่หวั่น”

“ด้วยลอรีอัล เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักเคมี และในปัจจุบันกว่า 50% ของนักวิจัย 3,000 คนของเราเป็นผู้หญิง เราจึงรู้สึกใกล้ชิดกับงานวิทยาศาสตร์ และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมทำให้บทบาทของสตรีเบื้องหลังวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนยิ่งขึ้น เราหวังว่านักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนจากโครงการของเราจะมีกำลังใจมากขึ้น ว่ามีคนเห็นคุณค่าในงานของเธอ และเราก็หวังว่าเรื่องราวของพวกเธอจะเป็นแรงบันดาลใจอีกต่อหนึ่งให้กับนักวิจัยคนอื่นๆด้วย” มร.ฌอง ฟิลิปป์ กล่าวสรุป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

สดับพิณ คำนวณทิพย์ ( แพน)

โทร. 02 684 3190, 089 893 8984

พาพร ตั้งตรงจิตร (ปิ่น)

โทร. 02 684 1942, 081 406 6091

อุษณีย์ จรูญพิพัฒน์กุล (โน้ต)

โทร. 02 684 3192, 081 917 4712

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net