โรงพยาบาลรามาฯ นำร่องจังหวัดปทุมธานี แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

20 Nov 2007

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--โรงพยาบาลรามาธิบดี

โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เลือก “ปทุมธานี” เป็นจังหวัดนำร่องเพื่อลดและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ชี้แนวโน้มสถิติความรุนแรงเกิดจากสุราเพิ่มสูงถึง 3.84 เท่า

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ จิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อนหญิง สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ฯลฯ คัดเลือกจังหวัดปทุมธานีเป็นโครงการนำร่องจังหวัดแรกของประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอครัว เพราะจังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดที่มีศัยภาพสูงและมีความพร้อมในทุกด้าน

“ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดปทุมธานีตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปล้วนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสนับสนุนโครงการนี้อีกมากมาย ได้แก่ อัยการ ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลประจังหวัดจังหวัด นักการศึกษาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” ศ.นพ.รณชัย กล่าว และเปิดเผยด้วยว่า

โครงการนี้จะใช้เวลา 1 ปีในการพัฒนาสังคมในจังหวัดปทุมธานีให้เป็นจังหวัดปลอดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีแผนดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมกว่า 21 โครงการ อาทิ การฝึกอบรมผู้หญิง ผู้ชายในการลดพฤติกรรมเสี่ยงด้านความรุนแรงในครอบครัว โครงการชุมชนนารีรักษ์ โครงการโรงพยาบาลกับตำรวจร่วมคุ้มครองช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง

ศ.นพ.รณชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในชุมชนรอบโรงพยาบาลรามาธิบดีจำนวน 7 ชุมชน 580 ครอบครัว พบว่ามีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 27.2 และยังได้มีการวิจัยปัญหาการใช้สุรากับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวพบว่า ครอบครัวที่ใช้สุรามีโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัวเป็น 3.84 เท่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่ได้ใช้สุรา

สำหรับประเทศไทยแล้ว มูลนิธิเพื่อนหญิงได้มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2548 พบว่า สถิติความรุนแรงในครอบครัว พบปัญหาความรุนแรง 603 ราย ซึ่งเพิ่มจากปี 2547 (จำนวน 317 ราย) แบ่งเป็นการฆ่ากันเองของบุคคลในครอบครัว 369 ราย หรือร้อยละ 62 และสถิติผู้มาขอความช่วยเหลือในปีเดียวกันมีจำนวน 1,461 ราย เป็นปัญหาด้านสังคมสงเคราะห์ 766 ราย กฎหมาย 695 ราย ซึ่งพบว่ามีการรร้องทุกข์คดีแพ่งเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวถึง 438 ราย