สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย 2551 ประชันขุนพลเศรษฐกิจจากพรรคการเมือง

08 Nov 2007

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์

ในช่วงเวลานี้ไม่มีหัวข้ออะไรที่ฮ็อตและกำลังเป็นที่สนใจของนักธุรกิจและสื่อมวลชนมากไปกว่าข้อมูลเนื้อหาจากงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยประจำปี 2550 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2551 : ความหวังจากการเลือกตั้ง” เพราะได้มีการระดมสุดยอดนักธุรกิจและขุนพลนักวิชาการตบเท้าออกมาวิเคราะห์และเสนอความเห็นถึงสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการภายหลังจากที่เข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศต่อในปีหน้า ซึ่งมีการพูดถึงวาระสำคัญทางเศรษฐกิจ ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1) ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและระบบการเงิน 2) ประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย 3) และประเด็นการแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาการกระจายรายได้ โดยได้รับเกียรติจากบุคคลชั้นนำในวงการ อาทิ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ นายขรรค์ ประจวบเหมาะ นายวิลาส เตโช ดร.สมชัย จิตสุชน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และเหล่าคณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่มาร่วมฉายภาพวาระสำคัญของประเทศ

ส่วนหนึ่งของวิดีโอพรีเซ็นเตชั่น นักธุรกิจและนักวิชาการพูดถึงประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และระบบการเงิน เริ่มจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ได้วิเคราะห์เรื่องภาวะความไม่สมดุลของการเงินโลก ปัญหาจากการที่สหรัฐมีการใช้จ่ายเงินเกินตัว ทำให้นักลงทุนเริ่มเป็นห่วงในเรื่องการลงทุน และเป็นห่วงมูลค่าของตราสารที่ตราไว้ ทางสหรัฐจะต้องลดการบริโภค และต้องยอมรับว่าเงินดอลล่าร์จะอ่อนค่าไปเรื่อยๆ ประเทศในเอเชียต้องปรับตัวโดยเร่งการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศ สำหรับรัฐบาลไทยควรใช้นโยบายค่าเงินบาทลอยตัว แสะควรมีมาตรการมารองรับค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับมือกับการแข็งของค่าเงินบาท

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการใช้นโยบาย capital control ทำให้กระทบกับการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากแบ็งค์ชาติไม่มีเครื่องมือในการบริหารการเคลื่อนย้ายทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ จึงทำให้ต้องใช้มาตรการห้ามนำเข้าทุน ซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไขต่อไปแต่จะด้วยมาตรการหรือวิธีการใดในการบริหารการเคลื่อนย้ายทุนได้มีอย่างประสิทธิภาพจะเป็นโจทย์ของรัฐบาลชุดใหม่ การบริหารเศรษฐกิจของประเทศนอกจากต้องดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือการรักษาเสถียรภาพของราคา (Inflation) และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate) วิธีการเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งในการรักษาราคาสินค้าและการรักษาค่าเงินบาททั้งสองสิ่งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาปรับปรุง ปัจจุบันสถาบันการเงินมีการแข่งขันสูงและต้องเชื่อมโยงกับระบบสถาบันการเงินโลก สถาบันการเงินจะต้องมีความแข็งแรงในด้านบัญชีและแข็งแรงในด้านบริการ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาวิธีเข้ามาช่วยดูแลสถาบันการเงินทั้งในแง่กำกับและส่งเสริม

ดร.สกนธ์ วรัญญวัฒนา รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ชี้รัฐบาลใหม่มีความท้าทายในการใช้เครื่องมือทางด้านการคลังในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะต้องกระตุ้นอย่างไรเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาล ในอีกมิติคือการใช้เครื่องมือทางด้านการคลังเพื่อการดูแลความกินดีอยู่ดีของประชาชน การบริการสาธารณะและการดูแลรักษาสวัสดิการของสังคมให้กระจายสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง และสุดท้ายคือการกระจายงบประมาณ และการกระจายภาระหน้าที่ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย

นอกจากนี้ยังมีวาระที่นักธุรกิจและนักวิชาการออกมาพูดถึง ประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พูดถึงการเปิดเสรีทางการค้า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมในประเทศ จากเดิมที่ได้กับการปกป้อง อุตสาหกรรมที่ถูกกระทบมากได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากและสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ยังไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม รัฐบาลจะต้องเร่งหาวิธีดูแลช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ถูกกระทบ

ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับระบบการศึกษาของไทยซึ่งยังเป็นการเน้นประกันคุณภาพในเชิงกระดาษ มีการผลิตเอกสารตำรามากมาย แต่ไม่ได้ดูในสาระสำคัญว่าหลักสูตรเหมาะสมหรือไม่ และในที่สุดแล้วผู้เรียนมีความรู้นำไปใช้ได้จริงหรือไม่ สิ่งสำคัญอีกประการคือที่ผ่านมาเราละทิ้งการพัฒนาแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะในระดับกลาง ได้แก่ กลุ่มอาชีวะ หากการพัฒนาเน้นเพียงผู้บริหารโดยไม่มีผู้เข้ามารองรับเป็นแรงงานฝีมือย่อมไม่สามารถพัฒนาความสามารถให้มีระดับการแข่งขันได้เพียงพอ

ดร.อักษรศรี พาณิชย์สาส์น อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอขอให้รัฐบาลเน้นนโยบายการเติบโตควบคู่ไปกับมังกรจีน ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในกระบวนการเติบโตของจีน ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในสายการผลิตของประเทศจีน หรือทีเรียกว่า ซัพพลายเชนของจีน ในกระบวนการบริโภคของจีน ขยายตลาดสินค้าไทยในจีน ที่สำคัญใน 3 ปีจากนี้ประเทศไทยจะเข้าไปอยู่ในข้อตกลงความร่วมมือทางการค้ากับจีนหรือที่เรียกว่าเอฟทีอาเชียน-จีน มีสินค้ากว่า 5 พันรายการที่มีการลดภาษีเป็นศูนย์ ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสมากขึ้นในการส่งสินค้าเข้าจีนในขณะเดียวกันก็จะมีสินค้าจากจีนจำนวนมากทะลักเข้าไทย

นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการ สายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาต้นทุนทางโลจิสติกส์ของไทย ปัจจุบันมีต้นทุนสูงถึง 19% ในขณะที่ประเทศมาเลเชีย 14% ประเทศญี่ปุ่น 11.5% ประเทศกลุ่มอียูและสหรัฐมีเพียง 7%-8% เท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สินค้าไทยที่ผลิตออกมาเพียงเริ่มต้นก็ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว หากสินค้าของไทยมีต้นทุนโลจิสส์ติกอ่อนแอซึ่งทางต่างชาติรู้ดีเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้า สินค้าจากต่างประเทศก็จะไหลทะลักเข้ามา สำหรับการขนส่งทางรถยนต์ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วน 40%-50% จากระบบทั้งหมด ส่วนประเทศไทยการขนส่งอยู่ที่รถบรรทุกสูงถึง 88.9% ทั้งที่การขนส่งรถบรรทุกใช้พลังงานมากกว่าการขนส่งทางรถไฟถึง 3 เท่า แต่ไม่มีคำตอบว่าทำไมเราไม่ย้ายโหมดการขนส่งไปทางรถไฟ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์จะต้องเริ่มต้นที่ภาคเอกชนโดยต้องมีรัฐคอยสนับสนุน ดังนั้นเราต้องสร้างให้เกิดการรับรู้ร่วมกันว่าต้นทุนทางโลจิสติกส์เป็นปัญหาของประเทศ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของรัฐหรือภาคเอกชน แต่เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องร่วมกันแก้ไขและต้องให้มีระยะเวลาที่ชัดเจน

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงการที่รัฐบาลจะต้องลดพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศด้วยกัน 2 วิธีคือ การรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำมัน และการหาพลังงานทดแทนน้ำมันซึ่งควรเป็นพลังงานที่หาได้ภายในประเทศ อีกส่วนคือเรื่องไฟฟ้า ปัจจุบันมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมากถึง 70% ของการผลิต ซึ่งเป็นการพึ่งพิงพลังงานเพียงชนิดเดียว ถึงแม้เราจะผลิตได้ในประเทศแต่ต่อไปจะผลิตได้น้อยลงและมีการนำเข้ามากขึ้น ดังนั้นต้องคิดไปล่วงหน้าในระยะยาว 10-20 ปีว่าประเทศไทยควรจะใช้พลังงานทดแทนอะไรบ้างนอกเหนือจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ

นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานกรรมการ บมจ.กันยงอิเลคทริก พูดถึงปัญหาการพัฒนาบุคคลากรของประเทศ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนยังขาดความจริงจังในการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการแข่งขันทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ คนไทยที่จบการศึกษาเข้าสู่กระบวนการทำงานต้องถามว่าเราสอนให้เขาใช้ความคิดหรือสอนให้เขาท่องจำ สังคมมีค่านิยมให้บุตรหลานรับการศึกษาอะไรก็ได้ที่จบปริญญาตรี ทำให้สังคมมีแต่ผู้ที่อยากเป็นหัวหน้าแต่ไม่มีใครอยากเป็นแรงงาน ซึ่งต่างจากสังคมในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งสามารถเลือกเดินได้ทั้งในสายอุดมศึกษาและในสายวิชาชีพ โดยต่างมีเส้นทางให้เติบโตและได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกัน ในต่างประเทศจะมีเส้นทางส่งเสริมช่างที่เป็นผู้ชำนาญการให้สามารถพัฒนาตัวเอง โดยรัฐจะมีสถาบันทดสอบที่ให้การรับรอง ซึ่งจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นตามระดับความสามารถที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาการกระจายรายได้ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม มูลนิธิสถาบันวิจันเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวว่ารัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหาความยากจนด้วยการให้บริการพื้นฐานทั้งในเรื่องพัฒนาถนนหนทาง ระบบการศึกษา และระบบการรักษาพยาบาล สำหรับแนวทางประชานิยม รัฐบาลมีการเข้าไปแทรกแทรงมากขึ้นซึ่งเป็นการหวังผลทางการเมือง เช่น การศึกษาฟรี และการให้สินเชื่อฟรีไปใช้เรื่องอะไรก็ได้ เพื่อบริโภคหรือเพื่อการใช้สอยส่วนอื่นๆ ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถใช้นโยบายประชานิยมในระยะยาวได้เพราะถือเป็นการใช้เงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พูดถึงการแก้ปัญหาความยากจน 3 เรื่องคือ เรื่องระบบครอบครัวเป็นการช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่สุขสบายเป็นการเสริมสร้างสถาบันครอบครัว เรื่องของเศรษฐกิจการสร้างที่อยู่อาศัยหรือบ้านหนึ่งหลังมีผลกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเพราะช่วยสร้างงานและการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมากเป็น Multiply Effect ในเรื่องของสังคมจะเป็นการช่วยเสริมสร้างชุมชนและสภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม

รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นปัญหาสังคมในอนาคตได้ ผู้สูงอายุจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพต้องมีหลักประกัน 3 เรื่องที่ต้องการคือ หลักประกันรายได้ หลักประกันการรักษาพยาบาล และรวมถึงการมีผู้ดูแลและที่อยู่อาศัย ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ระบุไว้ให้ผู้สูงอายุมีสิทธิที่จะเรียกร้องขอรับการดูแลจากรัฐได้ หากไม่มีการเตรียมการ ในอนาคตจะเป็นภาระกับการคลังของประเทศได้ อยากให้รัฐบาลมองว่าเป็นปัญหาในระยะยาว แต่อย่าแก้ปัญหาด้วยการเอาเงินไปให้ในระยะสั้นเท่านั้น

รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงปัญหาแรงงานไทย ให้ดูจากประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน เป็นกำลังแรงงาน 57% หรือ 38 ล้านคน และมีสัดส่วนกำลังแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับผลผลิตภาคเกษตรซึ่งมีไม่ถึง 10% ตรงนี้ชี้ให้เห็นปัญหาว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับค่าตอบแทนไม่ถึง 10% ของจีดีพีประเทศไทย ตัวเลขที่สองคือจำนวนแรงงานที่มีการศึกษาชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่ามีสัดส่วนสูงถึง 60% ตัวเลขทั้งสองนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของประเทศไทยซึ่งเบี่ยงเบนจากมาตรฐานของโลก

นายวิลาส เตโช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาชนบท สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวถึงการพัฒนาชนบทของประเทศไทย ด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา แต่วิธีการของรัฐบาลและข้าราชเป็นการใช้นโยบายและงบประมาณนำหน้า ในชนบทมีจารีตประเพณี ความสัมพันธ์เครือข่ายซึ่งเป็นทุนของสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นหากเน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสมาปฏิบัติจะทำให้การพัฒนาชนบทก้าวไกลกว่านี้อีกมาก การหวังพึ่งจากส่วนราชการเพียงอย่างเดียวซึ่งออกมาในลักษณะเชิงประชาสงเคราะห์หรือเชิงประชานิยมจะไม่ทำให้ชนบทเก่งขึ้นมีแต่รู้สึกว่าจะต้องร้องขอต่อไปเรื่อยๆ

รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงความเสี่ยงด้านการผลิต จึงอยากให้มีการประกันพืชผลโดยมีรัฐบาลเข้ามาเป็นหุ้นส่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือบรรเทาปัญหาเมื่อเกิดปัญหาได้ การเข้ามาช่วยดูแลฐานทรัพยากรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเกษตรกร ยังมีเรื่องดิน เรื่องป่า เรื่องน้ำ ที่ยังมีความขัดแย้งเรื่องการกำหนดสิทธิ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และยาก หากรัฐบาลใหม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ต้องใช้กระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน ที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แนวทางใหม่รัฐบาลคือการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับภาคประชาชน สิ่งที่ชาวบ้านเป็นเจ้าภาพ แล้วรัฐบาลจะเข้ามาเสริมได้อย่างไร

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสรุปถึงปีหน้าเมื่อมีรัฐบาลใหม่สิ่งที่ควรจะดำเนินการมี 3 เรื่องใหญ่ๆคือ เรื่องที่หนึ่งคือการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนชาวไทยหรือนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเรื่องการลงทุน เรื่องที่สองคือคุณภาพของการลงทุน ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องลงทุนอย่างฉลาด ลงทุนโดยการใช้สมอง เพื่อเพิ่มผลิตภาพของประเทศ เรื่องที่สามคือการกระจายรายได้ความยากจน เพราะปัญหาสังคมทุกวันนี้ ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาโสเภณี ปัญหาเรื่องหวย แม้กระทั่งสาเหตุของการปฏิวัติก็มาจากปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย ปัญหาคนเมืองกับคนชนบท

น่าเสียดายหากใครพลาดโอกาสไม่ได้เข้าร่วมฟังสัมมนาในครั้งนี้เพราะนอกจากจะอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระ ครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ทางสมาคมได้เชิญแกนนำจากพรรคการเมืองให้ระดมขุนพลทางเศรษฐกิจของตนมาร่วมให้ข้อมูลนโยบายและวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง ดังนั้นใครที่ไม่ได้ฟังสัมมนาในครั้งนี้คงต้องรอต่อไปอีกหนึ่งปีเลยที่เดียว