กรมศุลกากรเพิ่มช่องทางรับชำระค่าภาษีอากรOn-Lineผ่านธนาคารซูมิโตโม มิตซุยฯ

12 Sep 2007

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

วันนี้ (วันพุธที่ 12 กันยายน 2550) เวลา 10.00 น. นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงให้ความร่วมมือในการชำระภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยผ่านระบบหักบัญชีอัตโนมัติของธนาคาร กับนายฮิเดะโตชิ ฟูรูกาว่า ผู้จัดการใหญ่ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ณ ห้องประชุมอนุมานราชธน

กรมศุลกากร คลองเตย

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมศุลกากรพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการกระทำธุรกรรมทางการเงินโดยผ่านธนาคารพาณิชย์ ภายใต้ระบบการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยวิธีหักบัญชีธนาคาร ได้แก่ การชำระค่าภาษีอากร การวางค้ำประกันด้วยเงินสด และการวางค้ำประกันด้วยธนาคารค้ำประกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless Customs) ของกรมศุลกากร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก โดยลดขั้นตอนในการมาติดต่อกับกรมศุลกากร และเป็นการประหยัดเวลา ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ

กรมศุลกากรมีนโยบายที่จะเปิดโอกาสให้ทุกธนาคารพาณิชย์ที่มีความพร้อม และมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมให้บริการฯ สามารถเป็น Customs Bank ได้ เพื่อขยายการบริการการรับชำระค่าภาษีอากรในระบบ e-Payment แก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้สามารถใช้บริการได้หลากหลายธนาคาร ซึ่งธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น เป็นธนาคารญี่ปุ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรโดยหักบัญชีธนาคาร

และนับเป็นธนาคารเป็นลำดับที่ 4 นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารซิตี้แบงค์

ทางกรมศุลกากรเชื่อว่าการให้บริการของธนาคารซูมิโตโมฯ ในครั้งนี้จะเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการต่างๆได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะกับนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในประเทศไทย

อธิบดีกรมศุลกากร เพิ่มเติมว่า การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรโดยหักบัญชีธนาคารของ Customs Bank ทั้ง 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารซิตี้แบงก์ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายน 2550 มีปริมาณการรับชำระภาษีอากร จำนวน 70 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 11.3 ล้านบาท ส่วนในเดือนสิงหาคม 2550 มีปริมาณการรับชำระภาษีอากร จำนวน 303 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 65.4 ล้านบาท