รองฯ พุทธิพงษ์ชี้แจงกรณีสื่อเสนอข่าวกทม.สั่งปิดรร.ราชินีหลังพบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก

08 Feb 2008

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--กทม.

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวบางแห่งเสนอข่าวว่าตนสั่งปิดโรงเรียนราชินีหลังจากพบนักเรียนป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามสถานการณ์กรณีหากเกิดโรคมือ เท้า ปากหากเกิดขึ้นในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแล้ว กรุงเทพมหานครจะมีมาตรการอย่างไร ซึ่งตนเองได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียน ส่วนการปิดโรงเรียนถ้าเป็นโรคติดต่อไม่ร้ายแรงจะอยู่ในดุลยพินิจของโรงเรียนนั้นๆ

ทางด้าน หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ผู้จัดการโรงเรียนราชินี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.51 ทางโรงเรียนตรวจพบนักเรียน 2 คน ซึ่งเป็นพี่น้องกันเป็นโรค มือ เท้า ปาก สันนิษฐานว่าติดมาจากที่บ้าน แต่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค ทางโรงเรียนจึงสั่งปิดโรงเรียนในวันที่ 7 และ 8 เพื่อฉีดยาฆ่าเชื้อโรคบริเวณอาคารเรียนชั้นอนุบาลศึกษาและประถมศึกษาและจะเปิดเรียนตามปกติในวันที่ 11 ก.พ. ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษายังคงเปิดเรียนตามปกติ สำหรับการดำเนินการทำความสะอาดนั้น ทางโรงเรียนถือปฏิบัติตามระเบียบ ข้อกำหนดในการป้องกันการเกิดโรคระบาดของกรุงเทพมหานครอย่างครบถ้วน และได้ติดต่อประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุข 1 สะพานมอญ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้วยโรคต่าง ๆ หรือ เรื่องสุขภาพอนามัยทั่วไปของนักเรียน

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า หลังจากที่โรงเรียนพบเด็กป่วยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.51 และประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุข 1 สะพานมอญ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.51 ในวันเดียวกันสำนักอนามัยจึงได้จัดส่งทีม SRRT หรือทีมสอบสวนโรคเร็ว พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุข 1 เข้าไปยังโรงเรียนเพื่อนำน้ำยาฆ่าเชื้อไปให้โรงเรียนดำเนินการทำความสะอาด ซึ่งพบว่าโรงเรียนได้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางสำนักอนามัยได้เคยมอบไว้ให้หากเกิดกรณีพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในการเฝ้าระวังโรคในโรงเรียน ครู พี่เลี้ยงต้องหมั่นตรวจเด็กทุกคนในแต่ละวัน หากพบว่ามีจุดหรือผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่ก้น ให้แจ้งผู้ปกครองนำเด็กไปพบแพทย์ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือ เท้า ปาก ต้องให้เด็กป่วยหยุดเรียน 1 สัปดาห์หรือจนกว่าแผลจะหาย เนื่องจากการติดต่อของโรคสามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย และทางอ้อมคือการสัมผัสของเล่น มือผู้เลี้ยงดู หรือ น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ สำหรับข้อพิจารณาการปิดโรงเรียนนั้นหากมีเด็กป่วยมากกว่า 2 ราย ในห้องเรียนเดียวกันให้ปิดห้องเรียนนั้น และหากมีเด็กป่วยมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลา 5-7 วัน และความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส