ทริสเรทติ้งประกาศอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ ”บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ” ที่ระดับ “A” แนวโน้ม “Stable”

12 Feb 2008

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทจำนวน 2 ชุด อายุ 3 ปี และ 5 ปีของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้เงินกู้มีหลักประกันที่มีอยู่กับสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทและบริษัทย่อย อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดของบริษัทในฐานะผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาลที่มีความสามารถ และคุณภาพบริการที่อยู่ในระดับสูง ในการให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงเครือข่ายที่แข็งแกร่งของบริษัทภายใต้ชื่อกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรที่ค่อนข้างต่ำ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ในอนาคตที่อาจปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทมีการขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการแข่งขันในประเทศที่ค่อนข้างรุนแรง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับเดียวกับในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังคาดว่าการลงทุนในอนาคตของบริษัทจะใช้เงินทุนจากการดำเนินงานเป็นหลักเพื่อให้บริษัทสามารถคงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ระดับประมาณหรือต่ำกว่า 50% อย่างไรก็ตาม หากแผนการลงทุนของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ระดับหนี้ของบริษัทสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการก่อตั้งในปี 2512 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยมีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 10 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 18 แห่ง และมีจำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 2,929 เตียง โดยมีโรงพยาบาล 13 แห่งประกอบกิจการภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ 3 แห่งประกอบกิจการภายใต้ชื่อโรงพยาบาลสมิติเวช 1 แห่งภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบีเอ็นเอช และอีก 1 แห่งภายใต้ชื่อ Royal Angkor International Hospital รายได้เกือบทั้งหมดของบริษัทมาจากธุรกิจโรงพยาบาล โดยในช่วง 3 ปีหลัง รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 55% มาจากผู้ป่วยในและที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก ในปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลในเครือของบริษัทจำนวน 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท และโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ได้การรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI)

ทริสเรทติ้งกล่าวว่ากิจการของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการขยายตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจากการควบรวมกิจการ โดยบริษัทได้ซื้อกิจการของ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) บริษัท บีเอ็นเอช เมดิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด และโรงพยาบาลอีกหลายแห่งในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด และ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา จำกัด รายได้จากการดำเนินกิจการโรงพยาบาลของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ระดับ 51% อัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมของจำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 42% และ 34% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของจำนวนวันของผู้ป่วยในที่พักอยู่ในโรงพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 20% ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนเฉลี่ยของวันที่ผู้ป่วยในเข้ามารับการรักษาลดลงจากประมาณ 3.21 วันในปี 2547 มาอยู่ที่ 3.06 วันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 อัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของรายได้จากผู้ป่วยนอกแต่ละรายและรายได้จากผู้ป่วยในในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ12%-13% ในขณะที่รายได้จากผู้ป่วยชาวต่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับประมาณ 25% ของรายได้รวมในปี 2547 มาอยู่ที่ 36% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550

ผลจากการควบรวมกิจการโรงพยาบาลหลายแห่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้อัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2547 เป็น 54.5% ในปี 2549 และ 49.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทมีความตั้งใจที่จะคงอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับนี้แม้ว่าบริษัทจะมีแผนการขยายธุรกิจในอนาคต เมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) อีก 12.06% ทำให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 26.18% เป็น 38.24% โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 694.43 ล้านบาท ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทยังมีแผนการลงทุนอีกประมาณปีละ 2-2.5 พันล้านบาทในการบำรุงรักษาโรงพยาบาลในเครือและขยายกิจการ โดยโครงการลงทุนใหม่ประกอบด้วยการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา การก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 50 เตียงที่หัวหิน และการก่อสร้างโรงพยาบาลสมองขนาด 60 เตียงในบริเวณศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 10.4 เท่าในปี 2547 มาอยู่ที่ 6.1 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 แม้อัตราส่วนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะปรับตัวดีขึ้นจาก 19.2% ในปี 2547 มาอยู่ที่ 24.9% ในปี 2549 และ 21.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรค่อนข้างต่ำเนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ซึ่งบางส่วนยังไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 20.9% ในปี 2547 มาอยู่ที่ประมาณ 22.1% ในปี 2549 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลเอกชนรายสำคัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในระยะใกล้