สมาคมโรคเต้านมฯ เผยวิธีการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่

05 Aug 2008

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค

แพทย์สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เผยวิธีรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันว่าก้าวหน้าไปมากในสองทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบคงความสวยงามของเต้านมไว้ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยหญิงหลังการเข้ารับการผ่าตัด และอยู่โรงพยาบาลน้อยลง ตลอดจนแนวโน้มใหม่ในการเลือกสูตรยาเพื่อให้การรักษาให้แก่ผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลระดับโมเลกุลของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถเลือกสูตรที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต นอกจากนี้ยังมีการจัดให้ความรู้กับประชาชนและผู้ป่วย ในห้วข้อ “ก้าวใหม่ในการรักษามะเร็งเต้านม” เพื่อสร้างความรู้ให้กับประชาชนหันมาใส่ใจกับการตรวจเต้านมเพิ่มขึ้น

พลตรีนพ.สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ควรใส่ใจมารับการตรวจค้นหามะเร็งในระยะแรกเริ่ม จะทำให้การรักษาทำได้ง่ายไม่อันตราย ค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่สูง และผลการรักษาจะดีมาก ไม่มีการกลับมาของโรคอีกต่อไป และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นแกนหลักให้การพัฒนาขีดความสามารถของแพทย์ไทย ในการรักษามะเร็งเต้านมไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือรักษาด้วยยาให้เท่าเทียบกับต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมการวิจัยต่างๆเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในประเทศไทย

ผศ. พญ.เยาวนุช คงด่าน อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรรมการสมาคม ฯ กล่าวว่า การรักษามะเร็งเต้านมแบบคงความสวยงามของเต้านม เป็นแนวโน้มใหม่ในการรักษามะเร็งเต้านม โดยวิธีการรักษามะเร็งเต้านมแบบใหม่นี้ จะคำนึงถึงความสวยงามของเต้านมทั้งข้างที่เป็นมะเร็งและข้างที่ไม่เป็นมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการเอาเนื้อเต้านมออกเป็นเพียงบางส่วน หรือการตัดเต้านมแล้วนำไขมันและกล้ามเนื้อจากหลัง หรือท้องน้อยของผู้ป่วยเองมาทำเต้านมใหม่ ในบางรายอาจมีการตกแต่งเต้านมใหม่ทั้งสองข้าง โดยการผ่าตัดวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยลงกว่าวิธีการเดิมและทำให้สามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถยังคงความสวยงามของเต้านมได้อยู่เหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไป

พันเอกพิเศษนพ.วิชัย วาสนสิริ แพทย์ประจำกองศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า กรรมการสมาคม ฯ กล่าวว่า ในปัจจุบันความรู้ในระดับโมเลกุลของมะเร็งเต้านมได้มีความก้าวหน้าขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของตัวรับฮอร์โมน ,ตัวรับเฮอร์ทู ซึ่งเมืองไทยสามารถตรวจได้ทั่วไปและข้อมูลที่ก้าวหน้าขึ้นในเรื่องของยีนที่จะบ่งบอกถึงโอกาสในการดื้อต่อยาต่างๆซึ่งจะทำให้แพทย์ผู้ให้การรักษามีข้อมูลประกอบที่ทำให้ตัดสินใจเลือกสูตรยาต่างๆได้ถูกต้องกับภาวะของคนไข้มากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้ยังกล่าวเน้นถึงทิศทางในการให้การรักษาด้วยยาว่า คนไข้มะเร็งเต้านมที่อยู่ในระยะเดียวกัน หรือมีขนาดก้อนใกล้เคียงนั้นอาจจะได้รับการรักษาที่ไม่เหมือนกันก็ได้ที่เรียกว่า “ การรักษาแบบเฉพาะราย” และถ้าสงสัยก็ควรสอบถามแพทย์ผู้ให้การรักษาหรือส่งคำถามมายังสมาคมฯได้ที่ ตู้ปณ. 28 ปณฝ.กรมโรงงานอุตสาหกรรม กทม.10413

นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ แพทย์ประจำกลุ่มงานศัลยกรรม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรรมการสมาคม ฯ กล่าวว่า สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการบรรยายให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจ สำหรับโรคมะเร็งเต้านม โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านมจากสถาบันต่าง ๆ อาทิ เช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, โรงพยาบาลรามาธิบดี, วชิรพยาบาล ในหัวข้อ “ก้าวใหม่ในการรักษามะเร็ง เต้านม” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 21 สิงหาคม 2551 เวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้องจตุรทิศ ชั้น 3 โรงแรมเรดิสัน กรุงเทพฯ (พระราม 9) ภายในงาน จะมีการบรรยายในหัวข้อที่หลากหลาย เช่น ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีความกังวล ไม่อยากตัดเต้านมออกเลย ไม่ผ่าตัดจะได้หรือไม่? หรือผ่าให้น้อยที่สุดได้หรือไม่ ? ผู้ป่วยจะเจ็บมากไหม ? ถ้าเป็นแผลเป็นจะช่วยได้อย่างไร? การรักษามะเร็งเต้านมน่ากลัวหรือไม่ ซึ่งเป็นหลากหลายความกังวลที่ผู้หญิงกลัว

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรทราบ และหาวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยง บางคนครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง ก็ควรรีบมาตรวจเต้านม โดยวิธีตรวจที่นิยมและได้ผลแม่นยำที่สุด มี 3 วิธี คือการตรวจร่างกายโดยแพทย์ การทำแมมโมแกรม (mammography) ร่วมกับอัลตราซาวนด์ (ultrasound) และการนำชิ้นเนื้อมาตรวจ โดยหากทำการตรวจทั้ง 3 อย่างร่วมกัน จะมีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคประมาณ 99%-100% ซึ่งสูงกว่าการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มกรุณาติดต่อ

คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด

โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202หรือ 081-421- 5249

โทรสาร 0-2861-0675 อีเมล์ [email protected]